Tuesday, December 19, 2017

เมื่อถึงเวลา...เหมียวผลัดขน



ถึงเวลา...เหมียวผลัดขน (ข่าวโลกสัตว์เลี้ยง)

          คนที่รักแมวและเลี้ยงแมว อาจจะไม่ค่อยปลื้มกับเจ้าเหมียวนักในช่วงนี้ที่กำลังอยู่ในช่วงผลัดขน เพราะว่าทุก ๆ ที่ที่เจ้าเหมียวลงไปนอนเกือกกลิ้งก็มักจะมีขนของเจ้าเหมียวเต็มไปหมด จนสร้างความหงุดหงิดใจให้กับเจ้าของเป็นอันมาก

          การผลัดขนของเจ้าเหมียวนั้น จะเริ่มขึ้นเมื่อหมดฤดูหนาว อุณหภูมิสูงขึ้น เจ้าเหมียวก็จะเริ่มผลัดขนที่งอกในระหว่างฤดูหนาวซึ่งเคยสร้างความอบอุ่นให้กับร่างกายออก และเมื่อเจ้าเหมียวเริ่มผลัดขนออก ปัญหาก็จะตามมา งานนี้ถ้าไม่มีวิธีจัดการที่ดี ก็ยุ่งแน่ ๆ นอกจากจะสร้างความสกปรกให้กับบ้านแล้ว ในส่วนของเจ้าเหมียวก็มีปัญหาเช่นกัน เพราะในช่วงนี้เจ้าเหมียวก็จะกลืนขนตัวเองเข้าไปในท้องมากเป็น 3 เท่า ขณะที่เลียขนทำความสะอาดร่างกาย

         การจัดการกับเจ้าขนเหล่านี้ที่ดีที่สุดคือ ต้องดูแลเจ้าเหมียวให้มากขึ้่น อุปกรณ์ในการดูแลประกอบไปด้วย หวี แปรง ที่มีลักษณะเป็นซี่ยาว (ซี่สั้นเหมาะกับแมวที่มีขนสั้น) การแปรงขนจะช่วยให้ขนที่กำลังจะผลัดออกหลุดติดมากับหวี ในแต่ละวันคุณควรแปรงขนให้เจ้าเหมียว 1-2 ครั้ง ปริมาณขนที่หลุดกระจัดกระจายก็จะลดน้อยลง จนคุณพอใจ นอกจากนี้ อุปกรณ์ที่เป็นประโยชน์อีกอย่างหนึ่งก็คือ ถงมือที่มีปุ่มยางบนฝ่ามือ เอาไว้ดักจับขนและช่วยดึงขึ้นมา เจ้าเหมียวบางตัวไม่ค่อยชอบถุงมือนี้เท่าไหร่ มันจะคอยหลบ และทำเสียงขู่ออกมา

         การแปรงขนนอกจากจะช่วยลดการหลุดร่วงของขนแมวแล้ว ยังมีประโยชน์อีกหลายอย่าง เช่น

         การแปรงขนที่ดีและถูกสุขลักษณะ ช่วยบำรุงรักษาขนให้มีประกายแวววาว และทำให้ผิวหนังของแมวมีสุขภาพดี

          ลดการสำลักขน ที่มักจะเกิดขึ้นบ่อยครั้ง โดยสังเกตได้จากแมวจะไอแค็ก ๆ แรง ๆ ซึ่งเกิดจากการที่แมวเลียทำความสะอาดตัวแล้ว ขนที่หลุดร่วงเข้าไปในช่องปากทำให้เกิดการสำลัก ถ้าขนที่ติดอยู่ในลำคอไม่ได้นำออกมาก็จะเป็นสาเหตุของการท้องผูกในแมวได้อีกด้วย

          เห็นความเปลี่ยนแปลงต่าง ๆ ของผิวหนัง ในขณะที่คุณแปรงขนให้เจ้าเหมียวนั้น ทำให้ได้สังเกตความเปลี่ยนแปลงของผิวหนังแมวไปในตัว เปรียบเหมือนการเช็คสุขภาพ หากพบสิ่งผิดปกติ ก็จะได้รับการรักษาก่อนที่มันจะลุกลาม

          ป้องกันไม่ให้ขนหยาบกร้าน การแปรงขนถือเป็นตัวช่วยที่ดี โดยเฉพาะในแมวพันธุ์ขนยาว ซึ่งจะเกิดปัญหาขนหยาบกร้านได้ง่ายบริเวณปลายขน

          สานสัมพันธ์ที่ดี การแปรงขนนั้นยังเป็นการสร้างความรู้สึกพึงพอใจในตัวคุณให้กับเจ้าเหมียวแสนรักได้อีกด้วย

          ป้องกันไม่ให้ขนพันกันเป็นกระจุก การแปรงขนให้เจ้าเหมียวเป็นระเบียบเสมอนั้น จะกำจัดเส้นขนที่หลุดร่วงไปแล้วออก ซึ่งเป็นการช่วยป้องกันไม่ให้ขนพันกัน

          สำหรับช่วงนี้เจ้าของแมวท่านใดที่กำลังเจอะเจอกับปัญหา แมว ผลัดขน อยู่ ลองนำวิธีการเหล่านี้ไปใช้ ก็คงจะช่วยให้ช่วงนี้ผ่านไปได้อย่างเรียบร้อย

ขอขอบคุณข้อมูลจาก













Monday, November 27, 2017

วิธีป้องกันอันตรายสำหรับแมวที่ชอบหนีออกบ้าน

          เจ้าของส่วนใหญ่ต่างต้องการให้สัตว์เลี้ยงอาศัยอยู่บริเวณบ้าน เพราะกลัวว่าจะสัตว์จะได้รับอันตราย หรือหายตัวไปหากปล่อยให้ออกไปนอกบ้าน แต่บางครั้งที่เจ้าของเผลอสัตว์เลี้ยงอาจจะแอบออกไปสอดส่องซุกซนภายนอกบ้าง โดยเฉพาะแมวเหมียว เนื่องจากมีขนาดลำตัวที่ค่อนข้างเล็ก และนิสัยรักอิสระ ฉะนั้น เจ้าของอาจจะไม่ทันสังเกตเห็น ดังนั้นในกรณีแบบนี้ควรหาทางป้องกันความปลอดภัยให้แมวกันก่อนดีกว่า

1. ฉีดวัคซีนป้องกันโรค

         ภายนอกมีสิ่งที่เป็นอันตรายรายล้อมรอบตัวที่เราไม่อาจสามารถควบคุมได้รอคอยอยู่มากมาย โดยที่เจ้าของไม่มีวันรู้เลยว่าในแต่ละวันแมวออกไปทำอะไรมาบ้าง และติดโรคมาหรือเปล่า ดังนั้นจึงควรพาแมวไปฉีดวัคซีนที่จำเป็นป้องกันเอาไว้ก่อน อย่างเช่น วัคซีนไข้หัดและหวัดติดต่อในแมว วัคซีนพิษสุนัขบ้า และวัคซีนลิวคีเมีย เป็นต้น

2. นำไปตรวจพยาธิ

         แมวสามารถติดพยาธิจากอาหารได้เหมือนกับคน เพราะฉะนั้นหากมีเวลาควรจะพาแมวไปตรวจพยาธิบ้างอย่างน้อยเดือนละครั้งและตามเวลาที่กำหนด ไม่ว่าจะเป็นพยาธิตัวกลม พยาธิปากขอ และพยาธิตัวกลม เนื่องจากหากไม่รักษาอาจทำให้แมวถึงตายได้

3. ฉีดวัคซีนป้องกันหมัดแมว 

         เจ้าของไม่มีทางรู้ได้ว่าตรงไหนบ้างที่เป็นแหล่งอาศัยของพวกเห็บหมัดแมว หรืออาจจะติดมาจากแมวตัวอื่น ดังนั้นหากเป็นไปได้ควรฉีดยาป้องกันพวกปรสิตเหล่านี้ด้วย นอกจากนี้หลังจากที่ตรวจพยาธิภายในแล้วอย่าลืมเช็กโรคผิวหนังภายนอกด้วย และรักษาทันทีหากเจอความผิดปกติบนผิวหนัง หรือขนแมว

4. ใส่ปลอกคอ

         ไม่ว่าจะเป็นแมวที่เลี้ยงมากับมือ หรือแมวจรจัดที่ให้อาหารอยู่ทุกวันควรจะใส่ปลอกคอให้กับพวกมัน เพื่อแสดงความเป็นเจ้าของด้วย เพราะหากไม่ใส่ปลอกคออาจจะโดนเทศบาล หรือคนอื่นจับตัวไปได้ นอกจากนี้เป็นสัญลักษณ์และตัวช่วยให้หาตัวแมวได้ง่ายขึ้นด้วย โดยเฉพาะปลอกคอที่มีเสียงกระดิ่ง ไม่ว่าจะเดินเบาแค่ไหน เจ้าของนั้นก็สามารถรับรู้ตำแหน่งได้ทันที

5. การสร้างรั้วกั้น

         อีกหนึ่งวิธีที่จะช่วยป้องกันไม่ให้แมวออกจากบริเวณบ้านได้ก็คือ การสร้างรั้วกั้น หรือทำ Catio ช่องทางเดินเอาไว้กันแมวออกนอกพื้นที่ สามารถช่วยได้เช่นกัน ถึงแม้จะเป็นวิธีที่ใช้งบประมาณมากอยู่สักหน่อย แต่ได้ผลมาก ๆ เลย ส่วนสำหรับบ้านเช่าอาจหาไม้หรือแผ่นพลาสติกมาปิดช่องว่าง โดยสร้างให้มีความสูงกว่าช่วงกระโดดของแมวเท่านี้เอง

เครดิตภาพ https://www.pinterest.com/pin/29977153761888688/

Saturday, November 25, 2017

6 วิธีผ่อนคลาย เมื่อเจ้าเหมียวกลัวเสียงฟ้าร้อง


           ในช่วงที่ฟ้าฝนมืดครึ้มเช่นนี้ก็ต้องมีเสียงฟ้าร้องฟ้าผ่าเกิดขึ้นเป็นเรื่องปกติ สำหรับบางคนคงเป็นแค่เรื่องทั่ว ๆ ไปที่ไม่น่าใส่ใจนัก แต่กับแมวคงไม่ใช่เช่นนั้นน่ะสิ เพราะทุกครั้งที่มีเสียงดังเปรี้ยงปร้างขึ้นเมื่อไหร่ เจ้าแมวเหล่านี้ก็จะพากันเก็บตัวเงียบอยู่ตามมุมบ้าน ใต้โต๊ะ หรือใต้ตู้ทุกที แน่นอนว่า เมื่อคนเป็นเจ้าของเห็นแบบนี้ ก็คงอดห่วงไม่ได้ ฉะนั้นบรรดาเจ้าของแมวทั้งหลาย มาดูคำแนะนำดี ๆ จาก www.catster.com ที่ได้บอกวิธีช่วยผ่อนคลายให้กับแมว ในยามเกิดเสียงฟ้าร้องฟ้าผ่ากันเถอะค่ะ 

            1. อาการกลัวเสียงฟ้าร้องเป็นเรื่องปกติ


          โดยปกติหูของแมวค่อนข้างไวต่อเสียงต่าง ๆ อยู่แล้ว ซึ่งเสียงที่ว่า ไม่ใช่แค่เสียงทั่วไปที่เกิดจากสิ่งของกระทบกันเท่านั้น แต่รวมไปถึงระดับความกดอากาศที่เกิดขึ้นก่อนการเปลี่ยนแปลงของสภาพอากาศ และสาเหตุนี้เองที่ทำให้แมวออกอาการหวาดระแวงก่อนพายุจะมาถึง จนทำให้แมวเข้าสู่สภาวะเครียด ทั้งนี้ สามารถลดความตื่นกลัวของแมวได้ด้วยการดูแลอย่างใกล้ชิด

            2. ให้แมวอยู่ใกล้ตัว


          ถ้าแมวอยู่นอกบ้าน คุณต้องมั่นใจด้วยว่า แมวของตัวเองจะกลับบ้านก่อนที่พายุมาถึง โดยเฉพาะบ้านที่อยู่ในพื้นที่เสี่ยงอันตราย ทั้งนี้ หากทราบว่าจะมีพายุเข้า หรือฝนตกกระหน่ำรุนแรง ควรนำแมวกลับที่พักทันที พร้อมกับเตรียมพื้นที่ให้แมวซ่อนตัวด้วย ในกรณีที่จำเป็นต้องอพยพหรือย้ายไปอยู่บริเวณใกล้เคียงชั่วคราว

            3. ควบคุมอารมณ์ตัวเองให้เป็นปกติ


          แมวมีการรับรู้มากมายกว่าที่คุณคิด ไม่เว้นแม้กระทั่งตอนที่เจ้าของตกอยู่ในภาวะเครียดและวิตกกังวลเรื่องการเปลี่ยนของฝนฟ้าอากาศโดยรอบ ซึ่งความรู้สึกเหล่านี้ได้ถูกส่งต่อไปยังแมวของคุณด้วย ฉะนั้นทางที่ดีคุณควรควบคุมอารมณ์ให้อยู่ในระดับปกติดีกว่า

            4. ระงับความกลัวด้วยแคทนิป


          นำแคทนิป (กัญชาแมว) หรือกลิ่นที่แมวชอบ หยดที่ปลายขนบนหัวแมวเล็กน้อย และลูบบริเวณนั้นเบา ๆ กลิ่นหอมเหล่านั้นจะช่วยบรรเทาอาการหวาดกลัวและความเครียดของแมวลงได้

            5. ปล่อยให้แมวอยู่ในที่ซ่อน


          โดยปกติแมวจะหาที่ซ่อนตัวเมื่อก่อนจะเกิดเสียงฟ้าร้องฟ้าผ่าอยู่แล้ว และเมื่อคุณเห็นเช่นนั้น ก็ไม่ควรจะเรียกหรือบังคับให้แมวออกมาจากที่ซ่อน และควรหาตะกร้ามาตั้งไว้ เพื่อทำเป็นที่นอนให้กับแมว ซึ่งวิธีนี้จะทำให้แมวรู้สึกผ่อนคลายและสบายใจมากกว่า จากนั้นเจ้าของก็รอจนกว่าแมวจะออกมาจากที่ซ่อนเอง

            6. ปลอบประโลมเพื่อความสบายใจ


          แมวก็ต้องการการดูแลไม่ต่างจากคน แมวบางตัวอาจจะอยากให้คุณปลอบหรืออยู่ข้าง ๆ เมื่อรู้สึกกลัว ซึ่งถ้าหากเป็นเช่นนี้  คุณก็ควรดูแลแมวอย่างใกล้ชิดและทำให้แมวรู้สึกสบายใจที่สุด อย่างเช่น ลูบท้อง เกาคาง หรือนั่งข้าง ๆ แต่ทั้งนี้ไม่ควรตามใจมากเกินไป เพราะอาจทำให้แมวติดนิสัยและต้องทำแบบเดิมในครั้งต่อ ๆ ไป

          หลังจากนี้หากเกิดเสียงฟ้าร้องฟ้าผ่าขึ้นมาอีก อย่าลืมลองนำวิธีเหล่านี้ไปใช้กันนะคะ หรือถ้าคุณมีเคล็ดลับเด็ด ๆ ที่จะช่วยทำให้แมวรู้สึกผ่อนคลายและลดอาการกลัวลงได้ ก็สามารถนำมาแบ่งปันให้เจ้าของแมวคนอื่นได้ทราบกันด้วยนะจ๊ะ

Tuesday, November 21, 2017

นิสัยแมวเปรียบกับคน





นิสัยแมวคล้ายผู้หญิง ?

           เมื่ออารมณ์ดี ก็มาเคล้าเคลีย ออดอ้อนประจบเอาใจ บางทีก็ขึ้นมานั่งบนตัก

           เวลาอารมณ์ไม่ดีก็ทำเมิน เรียกก็ทำไม่ได้ยิน ทำไม่รู้ไม่ชี้บางทีก็เดินหนีไป

           เมื่อโมโหมาก ๆ ก็ข่วน บางทีก็ตบ และถ้าโมโหสุดขีดก็กัดเลย

 นิสัยแมวคล้ายผู้ชาย ?

           ชอบอิสระ ไม่ชอบให้ใครมาบังคับ ไม่ชอบกักขัง

           อยู่ไม่ค่อยติดบ้าน นึกอยากจะไปก็ไป นึกอยากจะมาก็มา

           บางทีก็หายไปนานแรมเดือนไม่ยอมกลับบ้าน เจ้าของต้องไปตาม พอกลับมาก็หมดเรี่ยวแรงมาทีเดียว มีแผลเต็มตัวต้องนอนให้เจ้าของเยียวยารักษาให้ พอหายแทนที่จะเข็ด ไม่นานหรอก หายไปอีก

 อายุแมว - อายุคน

           แมวอายุ 1 เดือน เท่ากับคนอายุ 5 เดือน

          แมวอายุ 2 เดือน เท่ากับคนอายุ 10 เดือน

          แมวอายุ 3 เดือน เท่ากับคนอายุ 2-3 ปี

          แมวอายุ 6 เดือน เท่ากับคนอายุ 14 ปี

          แมวอายุ 8 เดือน เท่ากับคนอายุ 16 ปี

          แมวอายุ 1 ปี เท่ากับคนอายุ 18 ปี

          แมวอายุ 3 ปี เท่ากับคนอายุ 30 ปี

          แมวอายุ 5 ปี เท่ากับคนอายุ 40 ปี

          แมวอายุ 10 ปี เท่ากับคนอายุ 60 ปี

          แมวอายุ 15 ปี เท่ากับคนอายุ 74 ปี

          ทั้งนี้ อายุเฉลี่ยของแมวจะอยู่ที่ประมาณ 10-15 ปี ขณะที่อายุเฉลี่ยคน 60 ปี 

ขอขอบคุณข้อมูลจาก
sema.go.th


Tuesday, November 7, 2017

5 วิธีจัดระเบียบบ้าน เพื่อความสุขของแมวเหมียว




หากคุณตัดสินใจนำแมวมาเลี้ยงไว้ในบ้านของคุณแล้ว สิ่งที่คุณต้องทำไม่ใช่แค่การเตรียมน้ำกับอาหารเอาไว้ให้แมวของคุณเท่านั้น แต่จำเป็นต้องเตรียมบ้านเอาไว้ให้พร้อม เพื่อรองรับความสะดวกสบายและสร้างความสุขให้กับสมาชิกใหม่ของบ้านด้วย เนื่องจากสิ่งของบางอย่างนั้นอาจจะทำอันตราย หรือทำให้แมวไม่มีความสุขได้ ดังนั้นในตอนนี้มาดูกันดีกว่าว่า คุณจัดบ้านให้เหมาะสมกับการเลี้ยงแมวได้อย่างไรบ้าง

1. จัดที่นอนให้เป็นที่เป็นทาง

          หากคุณปล่อยให้แมวมานอนบนเตียงนอนของคุณเป็นประจำ อาจจะส่งผลให้คุณมีปัญหาเรื่องการนอนหลับได้ ดังนั้นจะกับสุขภาพของคุณมากกว่าหากคุณแยกที่นอนของแมวออกไป และโดยปกติแล้วแมวบางตัวอาจจะไม่ชอบนอนที่นอนที่ถูกจัดเป็นระเบียบมากนัก ทั้งนี้คุณก็อาจจะแค่หาเศษผ้า วางเบาะเอาไว้ในที่ ๆ แมวชอบไปอยู่เป็นประจำ หรือพยายามไม่ให้แมวเดินเข้าห้องนอนของคุณก็พอ

2. จัดเก็บเสื้อผ้าให้เป็นระเบียบ

          หากไม่อยากเห็นขนแมวติดอยู่บนเสื้อผ้าของคุณอย่างที่ผ่าน ๆ มา ก็ควรจะรีดและพับผ้าเก็บใส่ในตู้ให้มิดชิดทันที เพราะหากไม่ทำเช่นนั้นแมวของคุณก็อาจจะขึ้นไปนอนเล่นบนกองผ้าที่คุณเพิ่งนำลงมาจากราวตากผ้าก็ได้ ซึ่งเชื่อว่าคุณก็คงไม่อยากจะนำผ้าไปซักอีกรอบเป็นแน่ คงจะดีกว่าหากคุณใช้วิธีนี้ป้องกันเอาไว้ก่อน ๆ ที่คุณต้องทำงานหนักเป็น 2 เท่า

3. ไม่ควรวางอาหารสะเปะสะปะ


          หลังจากที่คุณนำแมวมาเลี้ยงไว้ในบ้าน ก็ควรจะจัดเก็บอาหารหรือขนมให้เรียบร้อย ทั้งระหว่างการทำอาหารและหลังจากที่รับประทานเสร็จแล้ว เพื่อป้องกันไม่ให้แมวรับประทานเข้าไป เนื่องจากอาหารบางชนิดของคนส่งผลร้ายกับสุขภาพของแมว โดยเฉพาะช็อกโกแลต แป้ง นม อาหารดิบ รวมไปถึงเนื้อสัตว์ติดกระดูกกับไขมัน

4. ทำทางเข้า-ออกให้กับแมว

          หลาย ๆ ครั้งที่พบว่า แมวชอบแอบออกไปนอกบ้านในขณะที่เจ้าของบ้านเผลอ ดังนั้นเพื่อความสะดวกคุณอาจจะทำทางเข้า-ออกเล็ก ๆ เอาไว้ให้กับแมวของคุณด้วย เผื่อเอาไว้ในวันที่มีอากาศแปรปรวน แมวจะได้เดินเข้าบ้านได้เลยทันที โดยที่ไม่ต้องรอให้คุณมาเปิดประตู หรือเปิดประตูทิ้งเอาไว้รอให้แมวคุณเดินกลับเข้ามา

5. ใช้แผ่นพลาสติกป้องกันรอยขีดข่วน

          อย่างที่รู้กันดีว่า แมวชอบฝนเล็บกับเฟอร์นิเจอร์ เสา หรืออาจจะเป็นบานกระจกบนหน้าต่าง หากคุณไม่อยากให้สิ่งเหล่านี้เสียหายก็ควรจะนำแผ่นพลาสติกมาหุ้ม หรืออาจจะหาซื้อที่ฝนเล็บแมวไว้ให้เจ้าเหมียวได้ลับเล็บโดยเฉพาะ ซึ่งที่ฝนเล็บแมวจะทำมาจากกระดาษ เชือกปอ หรือเชือกมะนิลา เป็นต้น พร้อมฝึกให้เขาฝนเล็บให้เป็นที่ มีอุปกรณ์ให้แมวฝนเล็บเป็นที่เป็นทางแบบนี้ น่าจะช่วยลดร่องรอยบนเฟอร์นิเจอร์ลงได้บ้าง


          การปรับแต่งบ้านให้เหมาะสมกับการเลี้ยงแมว ไม่ว่าใครก็สามารถทำได้ง่าย ๆ โดยเริ่มต้นจากสังเกตพฤติกรรมของแมวก่อนว่า มีมุมไหนที่ชอบไปนอน วิ่งเล่น หรือซ่อนตัวบ้าง จากนั้นก็ค่อย ๆ ปรับแต่งพื้นที่แต่ละส่วนให้เหมาะสมกับแมว แมวของคุณจะได้อยู่ใต้ชายคาเดียวกันกับคุณอย่างมีสุข

เครดิตภาพ  https://www.pinterest.com/fredalb/cute-cats-and-kittens/

Friday, November 3, 2017

ใครว่าแมวกับสุนัขเลี้ยงด้วยกันไม่ได้ ฟังทางนี้เลยจ้า




          อย่างที่รู้ ๆ กันอยู่ว่าสุนัขกับแมวเป็นเหมือนลิ้นกับฟัน เจอกันทีไรต้องทะเลาะกันเหมือนเด็ก ๆ ทุกที ทั้ง ๆ ที่ไม่เคยเจอหน้ากันมาก่อนเลยสักครั้งไม่รู้ไปเอาความแค้นมาจากไหน วันนี้กระปุกดอทคอมก็ขอแนะวิธีสร้างความสามัคคีของสองสายพันธุ์ระหว่างเจ้าตูบสุนัขแสนซื่อสัตย์ตลอดกาล กับเจ้าเหมียวตัวน้อยแสนน่ารักได้อยู่ร่วมชายคาเดียวกันได้อย่างสงบสุข จะมีวิธีทำให้ทั้งสองตัวสนิทกันอย่างไรบ้างนั้นก็ต้องไปดูกันค่ะ


1. ต่างคนต่างอยู่

            วิธีที่ง่ายที่สุด แต่ก็ทำยากที่สุดเช่นกัน ดังนั้นหากเป็นไปได้เราก็อยากให้คุณเป็นกรรมการคอยห้ามศึกเมื่อทั้งสองตัวจ้องเจอหน้ากันทุกครั้ง เพราะพวกมันจะเกรงใจคุณไม่กล้าทำอะไรที่เสี่ยงต่อการโดนดุแน่นอน และคุณก็ไม่ควรวางใจหากเห็นทั้งสองตัวเงียบผิดปกติ เพราะตามสัญชาติญาณของสุนัขยังไง ๆ มันก็คิดว่าแมวคือศัตรูของพวกมันอยู่ดี

2. อยากเลี้ยงสุนัขเพิ่ม

            ถ้าคุณเลี้ยงแมวอยู่ก่อนแล้ว แต่อยากจะหาสุนัขมาเลี้ยงเพิ่มก็ควรให้ทั้งสองตัวทำความรู้จักกันเสียก่อน โดยการนำทั้งสองตัวมาเผชิญหน้ากันตรง ๆ ซะเลย เจ้าสุนัขจะได้รู้ว่าบ้านหลังนี้ไม่ได้มีมันเพียงตัวเดียวแต่ต้องอยู่ร่วมกับแมวด้วยนะ แรก ๆ ที่เจอกันอาจจะยังเขม่นกันอยู่ ฉะนั้นคุณก็ควรหาที่ซ่อนตัวเผื่อเกิดเหตุฉุกเฉินเอาไว้ด้วย แต่ถ้าพวกมันคุ้นหน้ากันแล้วก็ไม่มีอะไรต้องห่วงแล้วล่ะ

3. อยากเลี้ยงแมวเพิ่ม

            สำหรับคนที่เลี้ยงสุนัขเอาไว้ วันดีคืนดีอยากได้แมวมานอนกอดอุ่น ๆ ก็ควรรู้จักพฤติกรรมสุนัขของคุณให้ดีซะก่อน หากสุนัขของคุณเป็นสุนัขแสนเชื่องเชื่อฟังคุณทุกอย่าง จะสั่งให้นั่ง ยืน หรือขอมือก็ได้ตามสั่งแบบนี้ก็สามารถเลี้ยงแมวเพิ่มอีกตัวได้ แต่ถ้าสุนัขของคุณเป็นสุนัขประเภทฟังหูซ้ายทะลุหูขวา ฟังบ้างไม่ฟังบ้างเราแนะนำว่าอย่าเลี้ยงแมวเลยมีปัญหาแน่ ๆ

4. จับขังเดี่ยว

            บางครั้งเสียง และกลิ่นของสุนัขอาจจะทำให้แมวของคุณรู้สึกเครียด กังวลและระวังตัวอยู่ตลอดเวลา ซึ่งคุณสามารถคลายความวิตก และความเครียดของมันด้วยการนำไปขังแยกไว้สักพัก แล้วก็นำพวกของเล่น ที่นอน อาหารไปวางเตรียมเอาไว้ด้วย ให้แมวของคุณได้สงบจิตสงบใจสักครู่ ส่วนคุณและคนอื่น ๆ ก็ค่อย ๆ พลัดกันไปดูสถานการณ์ทีละคน


5. ถึงเวลาแนะนำตัว

            คุณวางสุนัขเอาไว้หน้าห้อง แล้วค่อย ๆ เปิดประตูเพื่อรอดูสถานการณ์ และไม่ควรบังคับหรือจับแมวมาอยู่ใกล้ ๆ สุนัข แต่ควรให้ทั้งสองตัวอยู่ที่ใครที่มันก่อนจะดีกว่า หรือหากแมวของคุณสบายใจที่มองสุนัขอยู่ห่าง ๆ ก็ปล่อยมันไป ถ้าทั้งสองตัวไม่ทะเลาะกันก็อย่าลืมให้รางวัลแมวกับสุนัขของคุณด้วย จะเป็นขนมแสนอร่อยหรือลูบหัวพร้อมคำชมก็ได้ พวกมันจะได้รู้ว่าทำแบบนี้ถูกต้องแล้ว

6. ให้เวลากับพวกมันสักพัก

            ทำอย่างที่กล่าวไปสักประมาณหนึ่งถึงสองอาทิตย์ เพื่อให้พวกมันรู้สึกคุ้นหน้าคุ้นกลิ่นกันมากขึ้น หลังจากนั้นก็ลองปล่อยสุนัขให้ไปเล่นกับแมวของคุณดู (แต่ทั้งนี้ในห้องนั้นควรจะมีที่ทางให้แมววิ่งหนีด้วยนะ) วันแรกอาจจะปล่อยรวมกันสักห้านาทีหรือสิบนาที แล้วค่อย ๆ เพิ่มเวลาไปเรื่อย ๆ ในวันถัดไปหากทั้งสองตัวไม่ทะเลาะกันก็ตบรางวัลสักชิ้นสองชิ้นเป็นกำลังให้ทั้งสองตัว

7. ถึงเวลาจับมือกันแล้ว

            หากผ่านไปประมาณอาทิตย์หรือสองอาทิตย์กว่า ๆ แล้วพวกมันยังไม่มีทีท่าว่าอยากจะสนิทกันเลยสักนิด คุณอาจจะต้องใช้ความอดทนอีกหน่อยให้เวลากับพวกมันไปอีกสักพัก เพราะยังไงซะพวกมันก็ได้มาอยู่ใต้ชายคาเดียวกันแล้วยังมีเวลาเปิดตัวอีกเยอะแยะ เราเชื่อว่าสักวันพวกมันจะต้องเป็นเพื่อนกันได้อย่างแน่นอน

            สำหรับคนที่อยากเลี้ยงสุนัขกับแมวไปพร้อม ๆ กันคงหายห่วงกันแล้วใช่ไหมคะ เพราะไม่ต้องมานั่งกังวลอีกแล้วว่าแมวจะเข้ากับสุนัขของคุณได้หรือเปล่า และถ้าคุณเผลอมันจะทะเลาะกันบ้างมั๊ย หากคุณรู้จักแนะนำให้ทั้งสองตัวรู้จักกันอย่างถูกต้องตามขั้นตอนวิธีที่เราบอกไป เชื่อว่าทั้งสองตัวจะต้องกลายมาเป็นเพื่อนสนิทสุดซี้กันได้อย่างแน่นอน


เรียบเรียงข้อมูลโดยกระปุกดอทคอม
เครดิตภาพ  https://www.pinterest.com/jgisvold01/cute/

Sunday, October 29, 2017

เชื้อราในแมว...ภัยร้ายแก่เจ้าของ




เชื้อราในแมว...ภัยร้ายแก่เจ้าของ (Cat magazine)
Cat Care เรื่องและภาพ : โรงพยาบาลสัตว์สัตวแพทย์ 4

           เคยบ้างไหมที่น้องแมวแสนน่ารักของท่านมีขนร่วงเป็นวงหย่อมๆ ตอนแรก ๆ มีตุ่มเล็ก ๆ เกิดขึ้น แล้วก็เป็นสะเก็ดขนเริ่มร่วง มีอาการคัน หลังจากนั้นไม่นานคุณเจ้าของก็จะมีอาการคันตามลำตัว ผิวหนังเริ่มแดงและเป็นวง สัญญาณเหล่านี้บ่งบอกว่าแมวของท่านอาจติดเชื้อรานั่นเองค่ะ

มันคือเชื้ออะไรกันหนอ

           เชื้อราในแมวทางการแพทย์เราจะเรียกกันว่า ringworm หรือ dermatopytosis สามารถติดได้บริเวณที่เป็น ขน ผิวหนัง เล็บ ทั้งของคน สุนัข แมว เป็นต้น โดยจะมีเชื้อหลักๆ อยู่ 3 ชนิดคือ Microsporum canis, Microsporum jypseum และ Trichophyton spp. โดยตัวที่จะติดจากแมวสู่แมวอีกตัวก็คือ สปอร์ของเชื้อรานั่นเองค่ะ

เชื้อรามาจากไหน

           คำตอบคือเชื้อราเหล่านี้จะอยู่ในสิ่งแวดล้อมอยู่แล้วค่ะ โดยมากเชื้อเหล่านี้จะชอบอุณหภูมิร้อนขึ้น ซึ่งเป็นสภาพอากาศของประเทศไทย โดยสามารถอยู่ในสิ่งแวดล้อมได้นาน 2 ปี ส่วนมากจะอยู่ตามแปรงหวีขน ตะกร้า เบาะนอน หากแมวใช้อุปกรณ์เหล่านี้ร่วมกันก็สามารถติดต่อถึงกันได้ค่ะ

อาการที่บ่งบอก

           น้องแมวมีอาการคัน มีสะเก็ดร่วงเหมือนรังแคของคน ขนจะกระจุกเป็นก้อน ๆ เหนียว ๆ ขนร่วงเป็นวง ๆ ในบางตัวใบหน้าบริเวณจมูกจะมีการถลอกลอกของผิวหนังค่ะ ซึ่งอาการเหล่านี้มักแสดงออกมาในแมวเด็ก แมวแก่ หรือเป็นแมวที่ภูมิคุ้มกันต่ำนั่นเอง

การวินิจฉัย

           การเพาะเชื้อบนอาหารเลี้ยงเชื้อ ซึ่งจะใช้ระยะเวลาประมาณ 2-18 วัน จากนั้นก็เอาเชื้อรามาย้อมสี

           การส่องไฟ Wood’s lamp technique หากเป็นเชื้อรา บริเวณรอยโรคจะขึ้นเป็นสีสะท้อนแสงออกมาค่ะ

การรักษา

           มีทั้งการฟอกด้วยแชมพูฆ่าเชื้อรา และการกินยา นอกจากนี้ควรทำความสะอาดอุปกรณ์ภาชนะต่าง ๆ ที่น้องแมวใช้ด้วยนะคะ ซักด้วยน้ำยาฆ่าเชื้อ พร้อมทั้งตากแดดให้แห้งค่ะ

           แต่อย่างไรก็ดีหากแมวของเรามีภูมิที่แข็งแรงโรคเหล่านี้ก็สามารถหายไปได้เองค่ะ

ถ้าในบ้านมีแมวเป็น 1 ตัว แล้วที่เหลือควรทำอย่างไรคะ

           คำตอบคือแน่นอนแมวที่เหลือหากแมวนั้นมีการสัมผัสกัน หรือใช้อุปกรณ์ร่วมกัน อาจติดเชื้อราแต่แอบแฝงอาการไว้ได้ อย่างน้อยเราควรรักษาแบบทั้งฝูงไปก่อนนะคะ

ติดคนได้ไหมคะ

           สามารถติดได้ทั้งคน และสุนัขค่ะ โดยมากเมื่อเจ้าของแมวพาแมวมาหาหมอ พอหมอแจ้งว่าเป็นเชื้อราซึ่งสามารถติดคนได้ เจ้าของก็จะโชว์แขนที่มีวง ๆ ให้หมอดูว่า "หมอคะ ใช่วงแดง" คัน ๆ นี่หรือเปล่าคะหมอ?"

ขอขอบคุณข้อมูลจาก                                                                              
Cat magazine
https://pet.kapook.com/view32188.html
เครดิตภาพ  https://www.pinterest.com/shancoolherd/feline-creatures-great-and-small/

Wednesday, October 25, 2017

แมวในบ้านทะเลาะกัน ทำอย่างไรดี?



แมวในบ้านทะเลาะกัน ทำอย่างไรดี? (Cat Magazine)
เรื่อง : น.สพ.กมล ภาคย์ประเสริฐ

            สำหรับบ้านที่เลี้ยงแมว (หมู่) มีปัญหาแมวทะเลาะกันบ้างไหมครับ การทะเลาะเบาะแว้งกันของแมวที่เลี้ยงไว้อยู่ด้วยกัน มีได้หลายสาเหตุ เช่น ความเครียด ความกังวล และความไม่สมหวัง หากต้องการแก้ปัญหาให้ตรงจุด เจ้าของจำเป็นต้องฝึกการสังเกตการแสดงออกของท่าทาง สีหน้า และน้ำเสียงของแมวในช่วงก่อน, ระหว่าง และหลังจากที่แมวทะเลาะกัน และสังเกตถึงบริเวณที่แมวมักจะทะเลาะกันด้วย การทะเลาะกันของแมวภายในบ้าน หากไม่ได้รับการแก้ไข นอกจากจะทำให้บาดเจ็บทางร่างกายแล้ว ยังมีผลกระทบต่อจิตใจของแมว ทำให้เกิดความเครียดและอาจนำไปสู่ปัญหาพฤติกรรมอื่น เช่น การปัสสาวะไม่เป็นที่ การเลียตัวเองตลอดเวลา หรือโรคอ้วนได้

ภาษากาย และสีหน้าแมวที่ควรรู้


            การสังเกตสีหน้าและท่าทางจะช่วยให้เราแยกแมวที่มีความก้าวร้าวจริงๆ ออกจากแมวที่แสดงความก้าวร้าวเพราะความกลัวได้ แมวที่มีอาการกลัวอาจจะส่งเสียงขู่ฟ่อ ขนลุกขัน โก่งหลังขึ้น ม่านตาขยาย และตะแคงด้านข้างลำตัวเข้าหาผู้รุกรานเพื่อเป็นการขู่ เพราะจะทำให้ดูตัวใหญ่ขึ้น หากสังเกตที่หูจะพบว่าแมวที่ก้าวร้าวเพราะความกลัวหูจะหมุนลงด้านข้างและลู่ไปทางด้านหลัง แมวจะแสดงอาการอย่างนี้ ต่อเมื่ออยู่ในสภาพที่ถูกจำกัดการเคลื่อนไหว ไม่สามารถหนีได้จึงจำเป็นต้องสู้ ในขณะที่แมวที่เป็นฝ่ายรุกรานแมวตัวอื่นส่วนหูมักจะหันไปด้านหลังแต่ปลายใบหูจะยกขึ้น จะใช้สายตาจ้องมองขู่ และอาจเข้าไปขวางทางเดินหรือเดินเข้าไปหาแมวตัวอื่นอย่างมั่นใจ

            เมื่อคุณอ่านภาษากายของแมวเป็นแล้ว ก็เริ่มจดบันทึกได้เลยครับว่าเกิดเหตุการณ์อะไรขึ้นในบ้านบ้างที่บริเวณไหน แมวตัวไหนแสดงความก้าวร้าวเฉพาะต่อเมื่อถูกรุกกราน และเหตุการณ์ที่แมวในบ้านแสดงอาการขู่ฟ่อ ตะปบ ข่วน คำราม วิ่งไล่ กัด หรือตะลุมบอนกันเกิดขึ้นบ่อยมากน้อยแค่ไหน

วิเคราะห์แก๊งแมวในบ้าน

            การเก็บข้อมูลขั้นต่อมา คือ ดูปฏิสัมพันธ์ระหว่างเจ้าของกับแมวและปฏิสัมพันธ์ระหว่างแมวกับแมวตัวอื่น สำรวจดูก่อนครับว่าแมวในบ้านตัวไหนอยู่กลุ่มเดียวกันบ้าง โดยดูจากพฤติกรรมการเลียแต่งตัวให้กันการเอาคางไปถูกัน และการใช้ชามน้ำ ชามอาหาร พร้อมกัน หรือมักจะพักผ่อนนอนเล่นที่บริเวณเดียวกัน ใช้เวลาจดบันทึก 1 ถึง 2 สัปดาห์ว่าแมวแต่ละกลุ่มมีการใช้สอยพื้นที่ตรงไหนของบ้านบ้าง คราวนี้เราจะมาลงรายละเอียดในส่วนของเหตุการณ์วิวาท ต้องสังเกตครับว่าอะไรคือปัจจัยกระตุ้น และแมวตัวไหนมีส่วนร่วมในเหตุการณ์ ต้องดูต่อไปถึงอาการเครียดของแมวที่ตกเป็นเหยื่อว่ามีอาการมากน้อยแค่ไหน เช่น หลบซ่อนตัว ไม่ค่อยออกมากินอาหารไม่เลียขนหรือไม่ยอมออกมาใช้กระบะทราย

สาเหตุที่แมวทะเลาะกัน มีอะไรบ้าง

            สาเหตุของความก้าวร้าวที่พบได้บ่อย ได้แก่ การหวงพื้นที่ การเปลี่ยนสถานะทางสังคม ความกลัว กระระบายความเครียด แมวที่มีอารมณ์ฉุนเฉียว การป้องกันตนเอง การคุกคามตัวอื่น และการทะเลาะกันระหว่างแมวตัวผู้ ขอยกตัวอย่างสาเหตุที่พบบ่อย ๆ ครับ

            การหวงพื้นที่และการเปลี่ยนสถานะทางสังคม สถานะทางสังคมของแมวในบ้านเปลี่ยนแปลงได้จากหลายสาเหตุ เช่น ลูกแมวในบ้านเริ่มโตขึ้นและมีอายุได้ 1 ถึง 2 ปี มีแมวโตบางตัวออกไปจากบ้านหรือมีแมวใหม่เข้ามาในบ้าน เมื่อสภาพแวดล้อมภายในบ้านหรือสถานภาพของแมวเปลี่ยนไปการจัดสรรพื้นที่ภายในบ้านระหว่างแมวจะเริ่มขึ้นซึ่งจะนำไปสู่การทะเลาะวิวาทกันเอง

            การวิวาทกันระหว่างแมวต่างจากในสุนัข คือ แมวจะเลือกใช้การคุกคามด้วยสายตาและท่าทางก่อน เช่น อาจจ้องหน้าแมวอีกตัวเดินไปปิดขวางทางเดิน หรือเดินเข้าไปหาช้า ๆ เพื่อขับไล่แมวอื่นออกจากบริเวณที่ตัวเองต้องการ หากแมวที่ถูกคุกคามยอมแพ้มักจะหมอบ หูลู่ลง และเดินหนีไปทางอื่นในที่สุด การวิ่งไล่กวด การขู่ คำราม ร้องเสียงดังยาว ๆ หรือกัดเป็นทางเลือกสุดท้าย กรณีที่ใช้วิธีการกดดันแล้วไม่ได้ผล

            แมวที่ตกเป็นเหยื่อมักจะจำกัดพื้นที่ในการเคลื่อนไหวเพื่อหลีกเลี่ยงการประทะกับแมวตัวที่ก้าวร้าว ดังนั้นหากปัญหาความก้าวร้าวรุนแรงจำเป็นต้องแยกกันเลี้ยงครับ เพราะส่วนใหญ่มักจะรักษาไม่หายในเร็ววัน ส่วนในกรณีที่ความก้าวร้าวเกิดเฉพาะช่วงที่แมวตัวอื่นพยายามจะเข้าไปหาชามอาหาร ชามน้ำ กระบะทราย หรือที่นอนพัก เราสามารถแก้ไขได้โดยจัดให้มีสิ่งอำนวยความสะดวกเหล่านี้อย่างเพียงพอและให้อยู่ในบริเวณที่เข้าถึงง่าย อย่าลืมว่าแมวจะมีการจัดสรรพื้นที่ในบ้านแบ่งกัน ซึ่งใหญ่เล็กไม่เท่ากัน ควรสังเกตเพื่อหาที่วางสิ่งเหล่านี้อย่างเหมาะสม

            ความระบายความเครียด กลิ่น เสียง การมองเห็นแมวตัวอื่นหรือสัตว์อื่น อาจทำให้แมวบางตัวรู้สึกหงุดหงิดแต่ไม่สามารถทำอะไรได้ เช่น เมื่อแมวในบ้านอาจถูกยั่วยุจากแมวที่อยู่นอกหน้าต่างทำให้ไม่สบอารมณ์จนส่งเสียงขู่และคำราม จังหวะนั้นเองเจ้าของหรือแมวตัวอื่นในบ้านเดินเข้ามาในห้องพอดีก็จะตกเป็นเหยื่อให้แมวได้ระบายอารมณ์ในทันที ส่วนมากแมวที่ตกเป็นเหยื่อมักไม่พอใจและต่อสู้กลับ ทำให้ปัญหาลุกลาม และสัมพันธภาพระหว่างแมวในบ้านแย่ลง ถึงขนาดที่ว่าถ้าแค่เห็นหน้ากันก็จะเริ่มขู่ หรือหาที่ซ่อนตัวทันที

            ความก้าวร้าวจากความกลัว เป็นการตอบโต้ที่พบได้บ่อยในแมวที่ตกเป็นเหยื่อ เจ้าของต้องฝึกสังเกตลักษณะท่าทางของแมวตามที่แนะนำไปข้างต้น เมื่อแมวที่เป็นผู้คุกคามพบว่าแมวที่เป็นเหยื่อตอบโต้มักจะยิ่งแสดงความก้าวร้าวมากขึ้นและปัญหาจะยิ่งรุนแรงขึ้นตามลำดับ

            แมวขี้โมโห หากเราสังเกตและวิเคราะห์แล้วไม่พบเหตุผลที่แมวแสดงความก้าวร้าวเลย บางครั้งอาจเป็นได้ว่าแมวตัวนั้นมีนิสัยก้าวร้าวเป็นปกติ ซึ่งมักมีสาเหตุโน้มนำมาจากปัญหาเรื่องสุขภาพ สภาพแวดล้อมภายในบ้านและปฏิสัมพันธ์ระหว่างแมวกับเจ้าของ หากแก้ปัญหาให้ตรงจุดได้ความก้าวร้าวของแมวจะลดลง

แนวทางแก้ปัญหา

            สร้างห้องสงบสติอารมณ์ภายในบ้าน
   
               เมื่อแมวในบ้านทะเลาะกันคุณจำเป็นต้องแยกแมวออกจากกันก่อนครับ อาจใช้ไม้กวาดต้อนใช้ถุงมือหรือผ้าขนหนูหนาๆ ตะครุบ หรือเอาตะกร้าผ้าครอบแมวไว้ ทั้งนี้เพื่อความปลอดภัยไม่ให้เจ้าของโดนกัด จากนั้นแยกแมวแต่ละตัวเข้าห้องสงบสติซึ่งควรจะเป็นห้องที่มืดๆ ใส่อาหาร น้ำ กระบะทรายไว้ให้พร้อม แมวอาจต้องใช้เวลาในห้องเป็นชั่วโมงหรือเป็นวันๆ เพื่อให้ใจเย็นลง เจ้าของจะเข้าไปในห้องเพื่อเปิดไฟแล้วให้น้ำให้อาหาร เท่านั้น เมื่อไรที่เจ้าของเข้าไปในห้องแล้วแมวเดินเข้ามาหาด้วยท่าทางที่สงบและดูผ่อนคลายค่อยปล่อยแมวออกจากห้อง สิ่งสำคัญคืออย่าปล่อยแมวออกมาเร็วเกินไปเพราะหากทะเลาะกันใหม่ปัญหาจะรุนแรงกว่าเดิม และอย่าให้แมวทั้งสองเจอหน้ากันในทันทีออกจากห้องพยามวางชามน้ำ ชามอาหาร กระบะทราย กระจายไว้ในบ้านในบริเวณที่แมวเดินเข้าเดินออกได้หลายทางเพื่อให้มีทางหนีที่ไล่ โดยดูให้อยู่ในพื้นที่ของแมวแต่ละตัวเพื่อลดโอกาสการเผชิญหน้ากัน แมวตัวที่ก้าวร้าวต้องใส่กระดิ่งที่ปลอกคอ เพื่อเป็นการเตือนภัยให้แมวที่เป็นเหยื่อรู้ล่วงหน้าก่อนจะถูกบุกรุกถึงตัว

              การปรับพฤติกรรม

               หลักการคือการสร้างความรู้สึกดีเวลาที่แมวคู่กรณีอยู่ใกล้ๆ กัน เพื่อความปลอดภัยควรใส่สายจูงแมวทั้งคู่ก่อนนำแมวทั้งสองตัวมาเจอหน้ากันโดยให้อยู่ไกลกันพอที่แมวจะไม่รู้สึกเครียดให้นำอาหารหรือขนมที่มีความน่ากินสูงมาให้แมวเพื่อเป็นการสร้างทัศนคติด้านบวกในการเจอกัน หากแมวยังไม่ยอมกินอาหารและแสดงอาหารเครียดอยู่ให้ถอยห่างออกจากกันมากขึ้น ซึ่งหากยังเครียดเหมือนเดิมก็ให้เลิกการฝึกและเริ่มฝึกในมื้ออาหารถัดไป แต่หากแมวทั้งคู่ยอมกินอาหาร ให้ปล่อยให้แมวกินจนเสร็จแล้วค่อยแยกย้ายออกจากกันครั้งต่อไปที่ฝึกยังคงใช้ระยะห่างเท่าเดิม หากแมวกินเป็นปกติ การฝึกครั้งหน้าให้เลื่อนระยะห่างระหว่างแมวให้ใกล้มากขึ้นครั้งละ 6 ถึง 8 นิ้ว หากแมวยังคงกินอาหารปกติให้เจ้าของปล่อยให้แมวได้มีโอกาสเลียแต่งตัวได้บ้างก่อนที่จะจับแยกกัน ทุก 2 ครั้ง ที่แมวกินอาหารโดยไม่มีอาการเครียดเราจะขยับชามให้ใกล้ขึ้นอีก สิ่งสำคัญคือเจ้าของห้ามใจร้อน เพราะหากขยับชามเข้าหากันเร็วไปแล้วแมวแสดงอาการก้าวร้าวใส่กัน เท่ากับการบำบัดถอยหลัง และโอกาสสำเร็จจะลดน้อยลง นอกจากช่วงที่ฝึกภายใต้การดูแลของเจ้าของแล้ว ในเวลาอื่น ๆ ควรแยกแมวทั้งสองออกจากกัน แต่อาจมีการสลับกระบะทรายกันหรือใช้วิธีเอาผ้าถู เพื่อเก็บกลิ่นมาผสมกันให้แมวรู้สึกคุ้นเคย ตามที่ผมเคยแนะนำไปในเล่มก่อนครับ

            แมวบางตัวอาจไม่ยอมกินขนมหรืออาหารที่ให้เลยหากเจอแมวคู่อริ ในรายนี้อาจฝึกแบบไม่ให้เห็นหน้ากันก่อน เริ่มจากให้กินอาหารโดยอยู่กันคนละฝั่งของประตูที่ปิดไว้ใน 2 ถึง 3 วันแรก ก่อนจะลองเปิดประตูอีกครั้ง หรือในบางครั้งอาจใช้การฝึกแบบประยุกต์โดยให้แมวตัวที่ก้าวร้าวอยู่ในกรงและแมวอีกตัวอยู่นอกกรงในขณะที่ให้อาหาร หากเป็นไปได้ด้วยดีให้สลับตำแหน่งกันแต่คราวนี้ต้องระวังมากขึ้น อย่าให้แมวตัวที่ก้าวร้าวขู่แมวในกรง หากแมวรู้สึกไม่สบายใจ ไม่ยอมกินอาหารอาจต้องพิจารณาให้แมวอยู่ในกรงด้วยกันทั้งคู่ในขณะฝึก

            สำหรับแมวที่มีความก้าวร้าวไม่มากอาจใช้วิธีการปรับความสัมพันธ์ผ่านการเล่นได้ ให้เจ้าของแง้มประตูไว้โดยแมวทั้งสองอยู่คนละฝั่งของประตูแล้วให้แมวทั้งคู่เล่นด้วยกันผ่านเบ็ดตกแมว

            การบริหารความสัมพันธ์ระหว่างแมวเป็นเรื่องละเอียดอ่อนต้องมีการตรวจสาเหตุอย่างละเอียด และบางครั้งต้องใช้ยาประกอบการรักษา กรณีปัญหารุนแรงระยะเวลาในการบำบัดอาจนาน 6 เดือน ถึงเกือบ 2 ปี ไม่ว่าอย่างไรก็อย่าเพิ่งถอดใจนะครับ ลองปรึกษากับสัตวแพทย์ใกล้บ้าน หรือเข้ามาปรึกษาผมได้ทาง www.facebook.com/petmanner ยินดีให้คำปรึกษาครับ



ขอขอบคุณข้อมูลจาก 
Cat Magazine
เรื่อง : น.สพ.กมล ภาคย์ประเสริฐ
เครดิตภาพ  https://www.pinterest.com/pin/677228862738543422/