Saturday, December 28, 2019

เตรียมตัวน้องเหมียว...เที่ยวรับลมร้อน



เตรียมตัวน้องเหมียว...เที่ยวรับลมร้อน (Cat Magazine)
เรื่อง : น.สพ.กมล ภาคย์ประเสริฐ


           ใครเคยพาแมวออกไปเที่ยวนอกบ้านกันบ้างครับ หากคุณกำลังเตรียมตัวจะไปพักร้อนแล้วไม่รู้จะทำอย่างไรกับแมวที่บ้านดี ทิ้งไว้ก็เป็นห่วง จะเอาไปฝากไว้ที่อื่นก็กลัวแมวจะเครียด สุดท้ายตัดสินใจจะพาน้องเหมียวไปเที่ยวด้วยกัน แต่ก็ไม่รู้ว่าจะต้องเตรียมตัวอย่างไร ผมมีทางออกให้ครับ กับ 4 ขั้นตอนง่าย ๆ ในการเตรียมตัวพาแมวไปเที่ยว เพื่อให้คุณและเขาได้มีประสบการณ์ดีๆ ร่วมกัน เรามาร่วมวางแผนวันหยุดสุดวิเศษกันเลยดีกว่าครับ


ขั้นที่ 1 กางเกราะป้องกันโรค

           ไปเที่ยวทั้งที คงไม่อยากได้ของแถมเป็นโรคอะไรกลับมาใช่ไหมครับ ตรวจสอบสมุดวัคซีนของแมวที่บ้านคุณให้ดีว่ามีวัคซีนอะไรที่จำเป็นแล้วยังไม่ได้ทำอีกหรือไม่ รวมถึงควรหยอดยาป้องกันหมัดให้น้องเหมียวสุดรักของเราด้วย สิ่งสำคัญที่ลืมไม่ได้หากแมวของคุณมีโรคประจำตัว เช่น เบาหวาน คุณควรต้องเตรียมยาของเขาให้พร้อม...ว่าแล้วก่อนออกเดินทาง 1 ถึง 2 สัปดาห์ ก็อย่าลืมแวะเวียนไปหาสัตวแพทย์ประจำตัวก่อนนะครับ


 ขั้นที่ 2 เตรียมพร้อมกับการเดินทาง

           ปัญหาแมวเมารถพบได้น้อยกว่าในสุนัขมาก ดังนั้นปัญหาส่วนใหญ่ในการเดินทางจึงเป็นอาการตื่นกลัวเวลาขึ้นรถ หรือเวลาขึ้นเครื่องบินแล้วต้องแยกจากเจ้าของไปอยู่เพียงลำพง การให้ยาคลายความกังวลหรือยาซึมจะช่วยได้มากหากจำเป็น แต่คุณควรปรึกษาสัตวแพทย์ก่อนโดยเฉพาะในแมวที่อายุมากหรือมีปัญหาเรื่องสุขภาพอยู่การบำบัดอาการตื่นกลัวการเดินทางในแมวสามารถทำได้หลายวิธี ถ้าอาการตื่นกลัวยังมีน้อยและเจ้าของจะเดินทางโดยรถส่วนตัว ผมขอแนะนำตามนี้ครับ

           สร้างเงื่อนไขทางความคิดบวกกับกระเป๋าหรือกรงที่ใช้ในการเดินทาง โดยใส่ขนม หรือของเล่นที่แมวชอบไว้ในกรง เปิดฝากรงทิ้งไว้ให้แมวจะเข้าหรือออกกรงเมื่อไหร่ก็ได้อย่างอิสระ ถ้าแมวเริ่มคุ้นเคยค่อยปิดฝากรงหรือกระเป๋าเป็นช่วงเวลาสั้นๆ ในระหว่างที่แมวกำลังสนใจกับขนมหรือของเล่นที่อยู่ในกรง ระยะเวลาที่ปิดฝาจะค่อยๆ เพิ่มขึ้นวันละนิด

           หาจุดที่แมวกลัวในการเดินทาง เช่น หากแมวเริ่มออกอาการกลัว ตั้งแต่เจ้าของเริ่มสตาร์ทรถ ให้เจ้าของลองฝึกเอาแมวใส่กระเป๋าเข้ารถในขณะที่รถจอดอยู่ในโรงจอดรถเฉยๆ โดยไม่ต้องสตาร์ทเครื่องก่อนหน้านั้นก็ให้พ่นกลิ่นฟีโรโมนสังเคราะห์ไว้ในรถสัก 2 ถึง 3 นาที ก่อนที่จะยกกระเป๋าขึ้นรถ ยกลงจากรถในเวลาไม่นานก่อนที่แมวจะเกิดอาการเครียด ค่อยๆ เพิ่มระยะเวลาให้นานขึ้นวันละนิด

           เริ่มสตาร์ทรถ ลองสังเกตอาการของแมวดู หากเริ่มเกิดความเคยชินลองขับรถถอยหน้าถอยหลังเป็นระยะทางสั้นๆ ก่อนจะยกกระเป๋าออกจากรถ การฝึกในครั้งหลังๆ ให้ลองขับรถออกจากบ้านเป็นระยะทางสั้นๆ ค่อย เพิ่มระยะทางในการเดินทางให้มากขึ้นในการฝึกแต่ละครั้ง จนแมวเกิดความเคยชินและไม่ตื่นกลัวกับการเดินทาง

           ในการเดินทางจริง อย่าลืมเตรียมขนม ของเล่น และฟีโรโมนสังเคราะห์ไว้ เพราะจะช่วยให้แมวรู้สึกผ่อนคลายในขณะเดินทางได้มากทีเดียว
          
           "ข้อตกลงที่สำคัญที่สุดในการพาแมวไปเที่ยว โดยเฉพาะแมวที่ตื่นกลัว คือ เจ้าของห้ามเปิดกรงหรือกระเป๋าสำหรับการขนย้ายระหว่างการเดินทางอย่างเด็ดขาด" แมวที่กำลังตื่นกลัวอาจตัดสินใจกระโดดออกทางหน้าต่างรถ หรือกระโดดออกมาจากกระเป๋าระหว่างกำลังลำเลียงขึ้นเครื่องบินได้ หากต้องการปลอบแมว แนะนำให้เพียงเอามือยื่นเข้าไปในกรงแล้วเรียกชื่อแมวด้วยน้ำเสียงที่ราบเรียบเพื่อให้แมวรู้สึกสงบ หากเจ้าของต้องการเอาแมวออกจากกรงตอนอยู่ในรถก็ห้ามเปิดกระจกหน้าต่างโดยเด็ดขาด เพราะขณะเดินทางอาจมีเสียงจากภายนอกรบกวนให้แมวตื่นตกใจได้ตลอดเวลา และห้ามปล่อยแมวมานั่งอยู่กับคนขับขณะขับรถ เพราะมีความเสี่ยงสูงที่จะเกิดอุบัติเหตุบนท้องถนน

           ตรวจสอบสภาพกรงหรือกระเป๋าเดินทางว่ามีความแน่นหนาแข็งแรงพอ เตรียมชามสะอาดไว้ 2 ใบ ใบหนึ่งไว้ใส่น้ำ อีกใบไว้ใส่น้ำ อีกใบไว้ใส่อาหารกรงควรโล่งโปร่งและระบายอากาศได้ดี และแมวควรอยู่ในห้องโดยสารที่มีแอร์เช่นเดียวกันคุณ เพราะอากาศที่ร้อนจัดอาจทำให้แมวป่วยได้

           หากคุณกำลังจะเดินทางโดยเครื่องบิน แนะนำว่าคุณควรซื้อตั๋วประเภทที่อนุญาตให้นำแมวไว้กับคุณในห้องโดยสารได้ สายการบิน ส่วนใหญ่อนุญาตให้สัตว์ที่มีน้ำหนักไม่เกิน 10 กิโลกรัม อยู่ในห้องโดยสารร่วมกับเจ้าของได้ แต่ต้องมีการติดต่อไว้ล่วงหน้า แมวที่ได้อยู่ใกล้ชิดเจ้าของะมีความเครียดในการเดินทางน้อยกว่าแมวที่เดินทางโดยถูกนำไปรวมกับสัมภาระ ส่วนกรณีที่จะพาแมวไปเที่ยวต่างประเทศ ต้องศึกษารายละเอียดให้ดีก่อนนะครับ เพราะในแต่ละประเทศมีเงื่อนไขการอนุญาตให้นำสัตว์เลี้ยงเข้าประเทศที่แตกต่างกัน เช่น ใบรับรองสุขภาพใบรับรองากรฉีดวัคซีน ไมโครชิป หรือบางประเทศก็ต้องให้ทำการตรวจเลือดก่อน

ขั้นที่ 3 กล่องหลบภัยในบ้านพักตากอากาศ

           เมื่อคุณถึงโรงแรมหรือบ้านพักตากอากาศ สิ่งแรกที่ควรทำคือ สังเกตพฤติกรรมของแมว แมวที่อยู่ในอาการเครียดเพราะไม่คุ้นเคยกับสถานที่มักจะออกอาการอยู่เฉยๆ เงียบๆ และไม่ค่อยมีปฏิสัมพันธ์กับใคร แต่หากแมวรู้สึกสบายใจและไม่เครียดมักจะเดินมาหาเจ้าของและเดินสำรวจในบ้านพักอย่างเป็นปกติ ถึงตรงนี้หากเราทิ้งไว้สักพักแล้ว น้องเหมียวของเรายังอยู่นิ่งๆ ไม่ขยับอยู่ หรือมุดซ่อนตัวไปอยู่ในตู้หรือใต้เตียง จะเรียกออกมาหรือจะเข้าไปอุ้มแต่ละทีก็ลำบาก ผมแนะนำให้เจ้าของลองสร้างกล่องหลบภัยขึ้นในห้องพักครับ แมวที่กำลังเครียดหรือไม่สบายใจมักพยายามหาที่ซ่อนตัวเพื่อให้รู้สึกสงบและปลอดภัยขึ้น เจ้าของอาจประยุกต์ใช้ลังกระดาษขนาดกลางเจาะรูไว้เป็นช่องให้แมวเข้าได้ เมื่อแมวที่เริ่มรู้สึกปลอดภัย คุ้นเคยกับสถานที่ และผ่อนคลายแมวจะเดนิออกมาหาคุณเอง ระหว่างที่รอเราก็ค่อยๆ จัดห้องวางกระบะทราย ชามน้ำ ชามอาหารไว้ในห้องพักให้แมว


 ขั้นที่ 4 อุบัติเหตุเกิดขึ้นได้เสมอ ๆ ในระหว่างการพักร้อน

           การปฐมพยาบาลแมวเบื้องต้นเป็นสิ่งที่เจ้าของควรต้องรู้ครับ เพราะอุบัติเหตุต่างๆ สามารถเกิดขึ้นได้ในระหว่างที่คุณและแมวกำลังพักร้อน ตัวอย่างปัญหาที่พบบ่อยๆ เช่น

           สารพิษ : เนื่องจากบ้านพักไม่ใช่บ้านที่เราอยู่ประจำ จะมีอะไรต่อมิอะไรทิ้งไว้บ้างก็ไม่รู้ หากคุณพบแมวอยู่ในอาการน้ำลายไหล นอนซึมผิดปกติ ควรรีบโทรศัพท์ปรึกษาสัตวแพทย์ในทันที สารพิษบางประเภทหากเพิ่งได้รับมาไม่เกินชั่วโมง เราสามารถกระตุ้นให้แมวอาเจียนออกมาเพื่อลดปริมาณสารพิษที่จะดูดซึมเข้าร่างกายได้วิธีการกระตุ้นให้อาเจียนที่ปลอดภัย คือ การใช้ Washing Soda (Sodium Carbonate) ป้อนให้แมวกิน 1 เกล็ด แต่ต้องทำเฉพาะในแมวที่ยังมีสติอยู่และยังไม่ซึมมากเท่านั้นนะครับ เพราะไม่อย่างนั้นแมวอาจสำลักสิ่งที่อาเจียนออกมาลงปอดจนเป็นอันตรายได้ หลังปฐมพยาบาลควรรีบนำส่งโรงพยาบาลในทันที

           การป้องกันที่ดีที่สุด คือ เมื่อถึงบ้านพัก คุณควรเดินสำรวจไปทั่วๆ ก่อน ว่าในห้องครัว ห้องนั่งเล่น ผู้พักเดิมวางอะไรทิ้งไว้หรือหรือมีการวางยาเบื่อหนูในบ้านหรือเปล่า เราจะได้เก็บทิ้งให้หมดก่อนปล่อยแมว

           แมวสัตว์กัดต่อย : ตัวต่อจะไม่ฝังเหล็กในไว้ในขณะที่ถ้าเป็นผึ้ง เหล็กในจะฝังอยู่ที่ผิวหนัง หากเจ้าของมองเห็นเหล็กในให้พยายามคีบออก พิษตัวต่อมีฤทธิ์เป็นต่าง เจ้าของสามารถปฐมพยาบาลเบื้องต้นได้โดยใช้น้ำมะนาว หรือน้ำส้มสายชูเช็ดบริเวณนั้น เพื่อไปลดความเป็นด่างของพิษ แต่หากเป็นผึ้งพิษจะเป็นกรด แนะนำให้ใช้ Baking Soda ผสมน้ำเช็ดแผล เท้าบริเวณที่ถูกต่อยมักจะบวมตามมาในภายหลัง ควรโทรปรึกษาสัตวแพทย์ประจำตัวเพื่อพิจารณาใช้ยาแก้แพ้ เพื่อลดอาการบวม กรณีไม่ได้ถูกต่อยที่เท้าแต่เป็นบริเวณหน้าหรือคอ ถือเป็นเรื่องเร่งด่วนที่ต้องพาไปพบสัตวแพทย์ครับ เพราะอาจเกิดการบวมตามมาในส่วนของทางเดินหายใจจนถึงขั้นหายใจไม่ออกได้

           จมน้ำ : พบได้บ้างที่แมวจะพลาดตกไปในถังเก็บน้ำหรือสระน้ำ ธรรมชาติของแมวจะสามารถว่ายน้ำได้ แต่ถ้าหมดแรงเมื่อไหร่ก็มีสิทธิจมน้ำได้เหมือนกัน หากแมวตกน้ำให้เจ้าของรีบดึงแมวขึ้นจากน้ำทันที ถ้าสำลักน้ำให้จับแมวห้อยหัวลงเพื่อให้น้ำบางส่วนที่สำลักเข้าไปออกมาทางปาก จากนั้นวางแมวบนพื้นราบแล้วเช็ดตัวแรง ๆ เพื่อกระตุ้นการหายใจ หากแมวยังไม่กลับมาหายใจ เจ้าของจำเป็นต้องช่วยผายปอดแล้วรีบพาไปพบสัตวแพทย์โดยเร็ว

           เท่านี้คุณก็สามารถไปเที่ยวกับน้องเหมียวตัวโปรดที่บ้านได้โดยสวัสดิภาพแล้วนะครับ ขอให้คุณผู้อ่านและน้องแมวทั้งครอบครัวมีความสุขกับการพักผ่อนในช่วงหน้าร้อนครับ แล้วพบกันใหม่ เดือนหน้า สวัสดีครับ

ขอขอบคุณข้อมูลจาก 


https://pet.kapook.com/view40704.html
เครดิตภาพ  https://www.youtube.com/watch?v=SqigckOWIN0

No comments:

Post a Comment