Wednesday, March 4, 2020

การดูแลน้องเหมียวช่องปากอักเสบ


การดูแลน้องเหมียวช่องปากอักเสบ (Cat Magazine)
เรื่อง : ฝ่ายวิชาการโรงพยาบาลสัตว์สายไหม

          โรคช่องปากอักเสบในน้องเหมียวเป็นปัญหาที่พบได้ค่อนข้างบ่อยในทุกช่วงอายุ สามารถพบได้ทั้งในเพศผู้และเพศเมีย เรียกได้ว่าเป็นอาการยอดฮิตที่พบในน้องแมวเลยก็ว่าได้ นอกจากสัตวแพทย์แล้วเจ้าของเจ้าเหมียวเองก็ดีถือว่าเป็นที่มีบทบาทในการดูและประคับประคองน้องแมวให้ผ่านช่วงวิกฤตนี้ไปได้


 สาเหตุของอาการช่องปากอักเสบ

          ภาวะช่องปากอักเสบนั้นมีสาเหตุการเกิดอยู่หลายประการ ได้แก่ เชื้อไวรัส (ไวรัสกลุ่มหวัดแมว ไวรัสเอดส์แมว ไวรัสลิวคีเมีย) แบคทีเรีย (ส่วนใหญ่จะเป็นการติดเชื้อแทรกซ้อนจากภาวะอื่น ๆ มากกว่า) ภาวะโรคทางเมตาบอลิก (เช่น ภาวะไตวายเรื้อรัง ที่มีระดับยูเรียในกระแสเลือดสูง) การแพ้ เนื้องอก และการบาดเจ็บต่าง ๆ (อุบัติเหตุ หรือมีสิ่งแปลกปลอมทำให้เกิดบาดแผล)

          ในกลุ่มอาการที่เรียกว่าเป็นภาวะช่องปากอักเสบ คือ เหงือก เยื่อบุช่องปาก เพดาน ลิ้น หรือช่วงคอหอย ที่มีการอักเสบเกิดขึ้นแรกเริ่มอาจมีเพียงเหงือกอักเสบก่อน ซึ่งในรายที่เป็นรุนแรงมากเนื้อเยื่อต่าง ๆ จะแดง บวม มีการขยาย เกิดเป็นแผลหลุม หรืออาจพัฒนาเป็นเนื้องอก และทำให้เกิดเลือดออกในช่องปากตามมา บางรายอาจเป็นรุนแรงถึงขั้นติดเชื้อแบคทีเรียเข้าสู่กระแสเลือดได้

 สัญญาณอันตราย

          ในระยะแรกที่มีการอักเสบในช่องปากของเจ้าเหมียวนั้น เจ้าของสัตว์อาจยังไม่สังเกตเห็นอาการได้อย่างชัดเจน ในบางครั้งอาการเหล่านี้ก็สามารถหายไปเองได้ในน้องเหมียวที่มีอาการไม่รุนแรง แต่เจ้าของสามารถสังเกตอาการที่เป็นสัญญาณเตือนภัย เพื่อให้น้องเหมียวแสนรักได้รับการรักษาได้อย่างทันท่งที ซึ่งอาการที่เจ้าของสามารถสังเกตได้ ได้แก่

           น้องเหมียวเริ่มมีกลิ่นปาก

           เกาหน้า

           เจ็บปากระหว่างกินอาหาร

           น้ำลายไหล

           กินอาหารลดลง

           ดม หรือสนใจอาหารแต่ไม่กิน

           ชอบกินอาหรนิ่ม ๆ มากกว่าอาหารเม็ด

           น้ำหนักลดลง

           ซุ่ม หรือแสดงอาการก้าวร้าว

          ไม่ชอบให้จับบริเวณหน้า

           ขนไม่เรียบร้อย เนื่องจากมีการแต่งตัวน้อยลง

           ต่อมน้ำเหลืองช่วงคอขยายใหญ่

           เริ่มมีแผลบริเวณริมฝีปาก มุมปาก หรือช่วงปากต่อจมูก

          หากพบสัญญาณดังกล่าวเตือนภัยถึงอันตรายในช่องปากมาแล้ว ควรพาน้องเหมียวไปพบสัตว์แพทย์เพื่อรับการรักษาอย่างทันท่วงที โดยการรักษาจะทำการแก้ไขจากสาเหตุต่าง ๆ ที่อาจทำให้เกิดอาการช่องปากอักเสบตามมา เช่น การให้ยาลดอักเสบ การให้ยาปฏิชีวนะควบคู่ หรือในปัจจุบันมีการรักษาโดยการใช้สารกระตุ้นภูมิคุ้มกัน เพื่อเสริมให้อาการเหล่านั้นหายเร็วขึ้น

ดูแลช่องปาก (เจ้าเหมียว) ด้วยตัวเอง

          เจ้าของน้องเหมียวถือว่าเป็นผู้ที่มีบทบาทสำคัญในการให้การดูแลเจ้าเหมียวที่บ้านนอกจากเวลาที่ไปพบสัตวแพทย์แล้ว เพราะเจ้าของจำเป็นต้องทำความสะอาดช่องปากอย่างต่อเนื่อง โดยอุปกรณ์ที่ใช้ได้แก่ น้ำเกลือล้างแผลที่มีขายอยู่ตามร้านขายยาทั่วไป สามารถนำมาใช้ล้างช่องปากได้ โดยดูดน้ำเกลือใส่ไซริงค์แล้วฉีดเบา ๆ เข้าไปในช่องปาก ให้ทำการล้างช่องปากเป็นประจำ หรือทุกครั้ง หลังจากที่น้องเหมียวกินอาหาร นอกจากนี้อาจใช้สำลีพันปลายไม้เช็ดเบา ๆ ที่บริเวณกระพุ้งแก้มและซอกฟัน เพื่อเป็นการกำจัดคราบอาหารและน้ำลายให้หมดไป นอกจากนี้ยังสามารถใช้ยาฆ่าเชื้อทา หรือพ่นภายในช่องปาก ตามที่สัตวแพทย์แนะนำ เพื่อทำให้อาการหายเร็วขึ้น ยาที่มีใช้ในปัจจุบัน เช่น ยาม่วง (ซึ่งปัจจุบันไม่เป็นที่นิยมนัก เพราะจะทำให้ปากเจ้าเหมียวเป็นสีม่วงไปอีกนาน) คลอเฮกซิดีน 2% และสเปรย์นาโนสำหรับใช้ในช่องปาก ซึ่งให้ผลการรักษาที่ค่อนข้างน่าพอใจ

          นอกจากนี้การดูแลเรื่องอาหาร การป้อนยาให้ตรงเวลา และการพาเจ้าเหมียวไปพบคุณหมออย่างต่อเนื่องก็เป็นสิ่งสำคัญ เพื่อให้เจ้าเหมียวมีสุขภาพช่องปากที่ดี ซึ่งไม่เพียงจะส่งผลโดยตรงต่อสุขภาพช่องปากเท่านั้น แต่ยังส่งผลต่อสุขภาพร่างกายโดยรวมของน้องเหมียวที่คุณรักอีกด้วย

          การดูแลสุขภาพช่องปากไม่ใช่เรื่องยุ่งยากอย่างที่เจ้าของแมวหลาย ๆ ท่านหวั่นใจ ไม่จำเป็นต้องใช้อุปกรณ์ทางทันตกรรมราคาแพงเข้ามาช่วย เพียงแค่เจ้าของน้องเหมียวทุก ๆ ท่านใส่ใจสังเกตช่องปากน้องเหมียว สนใจสัญญาณที่เกิดกับช่องปาก คำว่า "เหงือกจำ ฟันลาก่อน" ก็คงจะไม่เกิดขึ้นกับเจ้าตัวยุ่งของเราอย่างแน่นอน


ขอขอบคุณข้อมูลจาก 


https://pet.kapook.com/view42706.html
เครดิตภาพ  https://www.pinterest.com/pin/57280226502652994/

No comments:

Post a Comment