แมว (หมู่) เริ่มเลี้ยงอย่างไรให้รักกัน (Cat Magazine)เรื่อง : น.สพ.กมล ภาคย์ประเสริฐ เรื่องเริ่มมาจากต้นเดือนมกราคมที่ผ่านมามีเจ้าของแมวที่ผมรู้จักมานานคนหนึ่งมาปรึกษาว่าอยากเลี้ยงแมวเพิ่มที่บ้านอีกตัว พบเห็นกันอยู่บ่อย ๆ นะครับที่คนที่เลี้ยงแมวอยู่ตัวเดียวติดใจในนิสัยของแมวที่รักสะอาด เลี้ยงง่าย และไม่ส่งเสียงดังจนเกิดอยากเลี้ยงแมวเพิ่มอีกตัวเพื่อเป็นเพื่อนกับแมวที่บ้าน สิ่งสำคัญสำหรับเจ้าของที่อยากเลี้ยงแมวมากกว่า 1 ตัว ควรรู้คือสังคมการอยู่ร่วมกันของแมวมีความซับซ้อน การจัดการที่ไม่ดีอาจนำมาซึ่งความเครียดของแมวที่อยู่ร่วมกัน หรือบางครั้งอาจถึงขั้นมีการทะเลาะเบาะแว้งกันภายในบ้านได้ มาเรียนรู้และทำความเข้าใจเพื่อเตรียมความพร้อมกันดีกว่าครับ แมวที่เลี้ยงไว้ อยากมีเพื่อน? หากคุณเลี้ยงแมวแบบที่มีการปล่อยออกไปนอกบ้าน โดยภายในบ้านมีที่พักที่ปลอดภัย มีของเล่นให้เล่น มีอาหารให้กิน และเจ้าของให้เวลาในการเล่นกับแมวอย่างเพียงพอ ไม่มีความจำเป็นต้องเลี้ยงแมวเพิ่มอีกตัวเลยครับ เพราะแมวของคุณมีความสุขดีอยู่แล้ว พฤติกรรมในธรรมชาติของแมวเป็นสัตว์สังคมประเภทที่มีความยืดหยุ่นสูง คือจะอยู่ร่วมกันเป็นกลุ่มแค่บางช่วงเวลา และจะใช้เวลาส่วนใหญ่อยู่ตัวเดียวเสียมากกว่า เนื่องจากเหยื่อที่จับได้ในธรรมชาติเป็นหนูและสัตว์ขนาดเล็กซึ่งไม่สามารถแบ่งร่วมกับแมวตัวอื่นได้ แมวแต่ละตัวจะมีอุปนิสัยที่แตกต่างกันไป สำหรับแมวที่อัธยาศัยดีอาจจะเดินไปหาแมวตัวอื่นนอกบ้านเพื่อมีปฏิสัมพันธ์บ้างเป็นครั้งราว ในขณะที่แมวบางตัวที่รักสันโดษอาจเลือกอยู่เพียงลำพังโดยไม่ต้องการเจอแมวตัวอื่นเลย ดังนั้นถ้าเราเลี้ยงแมวให้อยู่แต่ในบ้าน แล้วอยากให้แมวมีเพื่อนคงต้องสังเกตพฤติกรรมแมวตัวนั้นให้แน่ใจก่อนครับว่ามีนิสัยแบบไหน แมวประเภทไหนที่เหมาะจะเลี้ยงเพิ่ม กรณีที่อยากเลี้ยงแมวเป็นคู่ตั้งแต่ต้น แนะนำว่าควรเลือกจากแมวที่เป็นพี่น้องกันนะครับ เพราะโดยธรรมชาติแล้วสังคมแมวจะไม่ยอมรับแมวตัวอื่นที่อยู่นอกกลุ่มง่ายๆ ไม่อย่างนั้นอีกทางเลือกหนึ่ง คือเลี้ยงแมวที่มีอายุน้อยกว่า 7 สัปดาห์ครับ แมวในช่วงวัยนี้หากโตขึ้นมาด้วยกัน มักไม่ค่อยพบปัญหามากนัก กรณีที่มีแมวตัวเดิมที่บ้านอยู่แล้วอยากเลี้ยงเพิ่ม แนะนำว่าแมวตัวใหม่ควรให้มีอายุน้อยกว่าแมวตัวเก่าที่บ้านครับ และควรเป็นเพศที่ตรงขามกับแมวตัวเดิม โอกาสที่แมวตัวเดิมยอมรับจะมีมากขึ้น แมวโตบางตัวจะมีปัญหาเวลาเจ้าของเอาลูกแมวใหม่เข้ามาเลี้ยงในบ้าน เพราะมักไม่ชอบเวลาลูกแมวเข้ามาเล่นด้วย การเลี้ยงลูกแมวสองตัวจะช่วยให้ลูกแมวเล่นกันเองและรบกวนแมวโตน้อยลง เมื่อสูญเสียแมวที่บ้านไปควรหาตัวใหม่ทันที? หากแมวบ้านที่เคยเลี้ยงคู่กันมาตลอดตัวหนึ่งตายไป อย่าเพิ่งเลี้ยงแมวใหม่ครับ แมวที่เป็นพี่น้องครอกเดียวกันหรือเลี้ยงร่วมกันมาตั้งแต่เล็กๆ จะมีความผูกพันกันมากเป็นพิเศษ หากมีตัวใดหายไป แมวอีกตัวมักจะเดินหาและจะร้องเรียก ซึ่งบางครั้งพฤติกรรมนี้อาจกินเวลาหลายเดือนอย่านำแมวใหม่เข้ามาในช่วงนี้เด็ดขาด ไม่มีแมวตัวไหนแทนที่แมวตัวเดิมได้ การนำแมวใหม่เข้ามาในช่วงนี้จะทำให้เกิดสภาพความตึงเครียดระหว่างแมวภายในบ้าน ควรรอให้พฤติกรรมดังกล่าวหมดไปก่อน ค่อยแนะนำแมวใหม่เข้ามาในบ้าน โอกาสที่แมวตัวเดิมในบ้านยอมรับจะมีมากขึ้น แต่จะไม่มีทางผูกพันกับแมวตัวใหม่มากเท่ากับตัวที่ตายไป เตรียมบ้านให้พร้อมรับแมวใหม่ แมวที่อยู่ในบ้านจะมีการยืดครองพื้นที่สำหรับตัวเองไว้อยู่แล้ว ดังนั้นเมื่อมีแมวตัวใหม่เข้ามา การจัดสรรพื้นที่ใหม่ระหว่างแมวจะเกิดขึ้นเจ้าของจำเป็นต้องเตรียมชามอาหาร ชามน้ำ บริเวณสำหรับนั่งเล่น และกระบะทราย ไว้ให้เพียงพอกับแมวที่เพิ่มขึ้น เพราะแมวทุกตัวล้วนอยากมีสิ่งจำเป็นพื้นฐานเหล่านี้เป็นของตัวเองทั้งนั้น บริเวณพื้นที่แนวราบในบ้านอาจจะไม่สามารถขยายได้ แต่เจ้าของสามารถหาชั้นหรือหิ้งไว้ให้แมวปีนป่ายหรือขึ้นไปนอนเล่นเพื่อเพิ่มพื้นที่ในแนวดิ่งได้ การปรับเปลี่ยนเหล่านี้ควรทำก่อนที่แมวตัวใหม่จะเข้ามาอยู่ครับ ในช่วงแรกที่จะนำแมวใหม่มาเข้าบ้าน ให้เจ้าของเตรียมห้องไว้ให้แมวตัวใหม่อยู่ในช่วงแรก ห้องควรจะต้องมีกลอนเพื่อกันไม่ให้แมวตัวอื่นๆ ในบ้านเข้าไปได้ ภายในห้องควรมีการเตรียมของเล่น ชามอาหาร ชามน้ำ กระบะทราย และที่สำหรับพักผ่อนหรือซ่อนตัวไว้ให้พร้อม เจ้าของและคนอื่น ๆ ในบ้านอาจจะทยอยเข้าไปทำความคุ้นเคยกับแมวในห้องนี้ ให้เวลาแมวใหม่เดินสำรวจสถานที่ในห้องและปรับตัวให้คุ้นเคยกับสภาพแวดล้อม 2 ถึง 3 วัน ก่อนที่จะเริ่มแนะนำให้รู้จักกับแมวตัวอื่นในบ้าน
4 ขั้นตอนในการแนะนำให้แมวรู้จักกัน
ขั้นที่ 1 แนะนำด้วยกลิ่นก่อน หาเศษผ้าที่ไม่ใช้แล้วโดยให้เขียนชื่อของแมวลงบนเศษผ้าแต่ละชิ้น นำเศษผ้าไปเก็บกลิ่นโดยนำไปถูบริเวณหน้าและสีข้างของแมวที่มีชื่อตรงกับบนเศษผ้า เก็บเศษผ้าแต่ละชิ้นแยกกันไว้ในถุงพลาสติกอย่างมิดชิดเพื่อไม่ให้กลิ่นมาปนกัน ต่อไปให้เจ้าของนำอาหารหรือขนมไปให้แมวตัวใหม่ที่ยังอยู่ในห้องพักที่แยกจากแมวตัวอื่น โดยนำเศษผ้าที่มีกลิ่นของแมวตัวอื่นในบ้านพันไว้ที่มือ ในช่วงแรกแมวตัวใหม่อาจถอยหลัง ขู่หรือทำตัวแข็ง ห้ามไปบังคับแมวเด็ดขาด รอให้แมวพร้อมและเดินเข้ามาหาคุณเอง ค่อยๆ ใช้เวลาให้แมวปรับตัวทำความเคยชินกับกลิ่น เมื่อแมวรู้สึกคุ้นเคยและทำตัวเป็นปกติเหมือนไม่ได้กลิ่นอะไรแปลกปลอมเราจึงจะเข้าสู่ชั้นที่ 2 ในระหว่างชั้นที่ 1 นี้ ควรนำผ้าที่มีกลิ่นของแมวตัวใหม่ไปให้แมวตัวอื่นในบ้านทำความคุ้นเคยด้วย โดยให้ใช้วิธีการเดียวกัน ขั้นที่ 2 ผสมกลิ่นเข้าด้วยกัน นำเศษผ้าที่มีกลิ่นของแมวใหม่และแมวตัวเดิมมาผสมกลิ่นโดยการเก็บไว้ในถุงพลาสติกเดียวกันทำซ้ำวิธีการเดียวกับในขั้นที่ 1 เมื่อแมวยอมรับกลิ่นที่ผสมกัน ให้นำผ้าผืนนั้นไปถูที่บริเวณที่แมวมักชอบนำหน้าไปถูบ่อย ๆ เช่น บริเวณมือ ขาเจ้าของ หรือเฟอร์นิเจอร์ต่าง ๆ คอยสังเกตพฤติกรรมแมว เมื่อแมวนำหน้าไปถูกับของที่มีกลิ่นของแมวตัวอื่นผสมอยู่อย่างสบายใจ เราจะเข้าสู่ขั้นที่ 3 กัน แต่ต้องไม่ลืมใช้วิธีการนี้ให้ครบกับแมวทุกตัวในบ้านก่อนนะครับ ขั้นที่ 3 ให้แมวใหม่ทำความคุ้นเคยกับบ้าน ตอนนี้เราจะให้แมวตัวใหม่ได้ออกจากห้องพักมาสำรวจบ้านกัน โดยให้แยกแมวตัวอื่นเข้าไปพักอยู่ในห้องอื่นชั่วคราวก่อน ปล่อยให้แมวตัวใหม่ได้เดินสำรวจบ้านอย่างเต็มที่เพื่อจะได้รู้ว่าอาหาร น้ำ และกระบะทรายอยู่ที่ไหน ที่สำคัญคือแมวจะได้รู้จักสถานที่สำหรับหลบซ่อนตัวและทางหนีทีไล่ เวลาที่เจอแมวตัวอื่นแล้วรู้สึกไม่สบายใจ เมื่อเรารู้สึกว่าแมวรู้จักสถานที่ต่าง ๆ ภายในบ้านเป็นอย่างดีแล้วก็เข้าสู่ขั้นตอนสุดท้ายกันเลยครับ ขั้นที่ 4 ให้แมวเจอหน้ากัน ถึงขั้นนี้แมวพร้อมที่จะเจอหน้ากันแล้วครับ แต่เพื่อความไม่ประมาทควรจะให้เจอกันแบบที่มีกระจกหรือรั้วกั้นอยู่ก่อน หากสถานที่ในบ้านไม่พร้อมอาจใช้วิธีการเปิดประตูแง้ม ๆ ไว้ให้พอเห็นหน้าและได้กลิ่นกันแต่แมวต้องไม่สามารถเดินเข้าออกได้นะครับ ให้เอากลิ่นที่ผ้ามาถูที่บริเวณขอบประตูหรือรั้วด้วย ระหว่างนี้ให้ใช้หลักการเบี่ยงเบนความสนใจโดยในช่วงเวลาของมื้ออาหาร ให้แมวกินอาหารพร้อมกันโดยให้อยู่กันคนละฝั่งของรั้ว หรืออาจจะหาเกมสนุก ๆ มาเล่นกับแมว เพื่อให้แมวลดความสนใจในแมวอีกตัวลง หากแมวไม่แสดงอาการกลัวหรือแสดงความก้าวร้าวให้เห็น แสดงว่าแมวของคุณพร้อมออกมาอยู่ร่วมกันแล้วครับ เจ้าของยังจำเป็นต้องนำผ้าที่มีกลิ่นของแมวผสมกันไปถูตามเฟอร์นิเจอร์ต่าง ๆ ภายในบ้านที่แมวชอบเอาหน้าไปถู จนกว่าจะเห็นแมวเอาหน้าไปถูกันและกันหรือเลียแต่งตัวให้กันถึงจะมั่นใจได้ว่าแมวยอมรับซึ่งกันและกันแล้ว ช่วงเวลาที่ใช้ตั้งแต่ขั้นที่ 1 ถึง 4 อาจกินเวลาตั้งแต่ 2 สัปดาห์จนถึง 2 เดือนขึ้นอยู่กับแมวแต่ละตัว แต่เชื่อเถอะครับว่าไม่มีทางลัดสำหรับคามรักของแมว ทุกอย่างจำเป็นต้องใช้เวลา ในเดือนหน้าจะเป็นตอนต่อเกี่ยวกับสังคมแมวภายในบ้านครับ บ้านที่มีปัญหาแมวทะเลาะกันมักเกิดจากสาเหตุอะไร ที่สำคัญคือหากสังคมแมวภายในบ้านมีปัญหาอยู่อย่าเพิ่งเลี้ยงแมวตัวใหม่เด็ดขาดนะครับ สำหรับผู้ที่มีปัญหาเกี่ยวกับพฤติกรรมของสัตว์เลี้ยงภายในบ้าน สามารถปรึกษาได้ทาง www.facebook.com/petmanner
ขอขอบคุณข้อมูลจาก
https://pet.kapook.com/view38387.html
เครดิตภาพ
https://www.pinterest.com/pin/407646203782257788/
โรคไข้หัดแมว มหันตภัยร้ายสำหรับแมวที่คุณรัก (มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์)โดย....อ.น.สพ.จตุพร หนูสุด ภาควิชาเวชศาสตร์คลินิกสัตว์เลี้ยง คนเลี้ยงแมวทั้งหลายคงจะเคยได้ยิน "โรคไข้หัดแมว" กันมาบ้าง โรคไข้หัดแมวนี้เป็นโรคที่เกิดจากเชื้อไวรัสกลุ่มพาร์โวไวรัส (feline parvovirus) มีผลต่อระบบทางเดินอาหารของแมว (แต่ไม่มีผลต่อระบบทางเดินหายใจ เหมือนไข้หวัดแมว) ทั้งนี้ มีรายงานการพบโรคนี้นานแล้ว ซึ่งสามารถพบในแมวทุกตระกูล ไม่ว่าจะเป็น เสือ สิงโต แมวป่า หรือแม้แต่แมวบ้านทุกพันธุ์ นอกจากนี้ยังพบได้ในสัตว์ตระกูลอื่น ๆ อีก เช่น สกั๊งค์ เฟอเร็ต มิ้งค์ แรคคูน ซึ่งโรคนี้ทำให้สัตว์มีอาการ "คล้ายเป็นหวัดและท้องเสีย" มีอาการเหมือนโรคไข้หัดสุนัข หรือโรคดิสเท็มเปอร์ ของสุนัข จึงมีคนเรียกชื่อต่าง ๆ มากมาย เช่น โรคไข้หัดแมว (Cat distemper) และ โรคลำไส้อักเสบในแมว (Feline Parvovirus Enteritis) โรคไข้หัดแมวนี้จะรุนแรงมากในแมวอายุน้อย โดยมีอาการที่สำคัญที่พบคือ มีไข้สูง อาเจียน ท้องเสีย และมีผลต่อการทรงตัวของลูกแมว และทำให้ลูกแมวตาบอดได้ ส่วนในลูกแมวโตเมื่อเกิดการติดเชื้อระยะหนึ่งแล้วร่างกายสามารถสร้างภูมิ คุ้มกันได้ก็จะอาการดีขึ้น แต่แมวที่หายจากโรคใหม่ๆ สามารถพบเชื้อไวรัสออกมากับอุจจาระได้หลายสัปดาห์ ส่วนในแมวตั้งท้องอาจแท้งลูกหรือลูกตายหลังคลอดได้การติดโรคเกิดขึ้นได้อย่างไร แมว สามารถติดโรคไข้หัดแมวได้จากการติดต่อโดยตรงจากแมวป่วยไปยังตัวอื่น โดยเฉพาะทางอุจจาระ ภาชนะใส่อาหาร น้ำ กรงหรือที่ขับถ่ายของแมว พื้นดินที่ปนเปื้อนด้วยเชื้อไวรัส นอกจากนี้อาจเป็นเสื้อผ้าหรือรองเท้า การแพร่โรคได้ง่ายขึ้นระหว่างแมวที่เลี้ยงปนกันหลายๆ ตัวอาการของแมวที่เป็นไข้หัดแมว โรคไข้หัดแมว มีระยะการฟักตัวของโรค 2-7 วัน โดยแมวอายุน้อยส่วนใหญ่ตายอย่างรวดเร็ว อัตราการตายอยู่ระหว่าง 25-90% โดยแมวป่วยจะมีอาการไข้สูงเฉียบพลัน ซึม เบื่ออาหาร อาเจียน ท้องเสีย ร่างกายขาดน้ำ เป็นโรคที่มีอัตราการตายสูง โดยเฉพาะในกลุ่มแมวที่ไม่เคยได้รับการฉีดวัคซีน เมื่อตรวจเลือดพบเม็ดเลือดขาวต่ำมาก จึงมีชื่อเรียกโรคนี้ว่า "Feline Panleukopenia" เมื่อคลำบริเวณช่องท้องจะเจ็บท้อง บางทีพบเป็นลำของลำไส้หนาตัว ภายในมีแก๊สและของเหลวเมื่อแมวของท่านเป็นโรคไข้หัดแมวควรทำอย่างไร ควรพาไปพบสัตวแพทย์ทันที เพราะเป็นโรคติดต่อร้ายแรง โดยเฉพาะแมวที่ไม่กินอาหารเลย มีอาเจียน ท้องเสีย จะทำให้ร่างกายอ่อนเพลียทรุดโทรมมาก สัตว์อาจอยู่ในสภาพช็อคได้ สำหรับแนวทางการรักษาโรคนี้คือ การรักษาตามอาการและพยุงชีวิตให้สัตว์สามารถสร้างภูมิต้านทานต่อโรคได้ โดยการให้สารน้ำ (Fluid therapy) และ ฉีดยาร่วมด้วย โดยเฉพาะยาฆ่าเชื้อแบคทีเรียหรือยาปฏิชีวนะ เพื่อป้องกันโรคแทรกซ้อน นอกจากนี้อาจฉีดยาระงับการอาเจียนและลดการทำงานของลำไส้ โดยการงดอาหารและน้ำ ให้วิตามินบีรวมโดยการฉีดเข้าทางเส้นเลือด เนื่องจากโรคนี้เป็นโรคที่เกิดจากเชื้อไวรัส ซึ่งไม่มียาฆ่าเชื้อไวรัสโดยตรง มีแต่การรักษาเพื่อประคับประคองชีวิตเท่านั้นควรระวังแมวที่ยังไม่เป็นโรคไข้หัดอย่างไร ควรรีบแยกแมวป่วยออกจากแมวปกติตัวอื่นทันที เพราะโรคนี้เป็นได้กับแมวทุกอายุ และต้องทำความสะอาดและฆ่าเชื้อโรคที่อาจแพร่ออกมากับอุจจาระ ปัสสาวะ ด้วยโซเดียมไฮโปคลอไรด์ เจ้าของแมวที่เพิ่งมีแมวตายด้วยโรคไข้หัดแมวใหม่ ๆ ไม่ควรนำลูกแมวที่ยังไม่เคยได้รับการฉีดวัคซีนเข้ามาเลี้ยงอีกการป้องกันแมวที่คุณรักไม่ให้เป็นโรคไข้หัดแมว การฉีดวัคซีนป้องกันโรค ซึ่งปัจจุบันมีวัคซีนป้องกันโรคไข้หัดแมวจำหน่ายหลายยี่ห้อ และยังเป็นวัคซีนรวมอีกด้วย คือ ใช้ป้องกันได้ทั้งโรคไข้หัดแมวและโรคไข้หวัดแมวไปพร้อม ๆ กัน ซึ่งสามารถรับการฉีดวัคซีนได้ตามคลินิกสัตวแพทย์ทั่ว ๆ ไป ส่วนสัตว์ป่าตระกูลแมว และแมวทุกเพศ ทุกวัย ควรได้รับการฉีดวัคซีนป้องกันโดยใช้โปรแกรมเดียวกับแมวเลี้ยงดังนี้ โปรแกรมการฉีดวัคซีนป้องกันโรคไข้หัดแมว เข็มที่ 1 ฉีดเมื่อลูกแมวอายุ 2 เดือน เข็มที่ 2 ฉีดเมื่อลูกแมวอายุ 2 ½ เดือน เข็มที่ 3 ฉีดทุกปี ปีละเข็มโรคไข้หัดแมวนี้ สามารถติดต่อถึงคนได้หรือไม่ โรคไข้หัดแมวนี้ เป็นโรคเฉพาะสัตว์ในตระกูลแมวเท่านั้น ไม่มีรายงานติดถึงคน เพราะฉะนั้นโรคไข้หัดแมวไม่ติดถึงคน
ขอขอบคุณข้อมูลจาก
https://pet.kapook.com/view12022.html
เครดิตภาพ
https://www.pinterest.com/pin/148407750214819764/
ฝึกแมวให้เก่งเหมือนหมา มันยากยิ่งกว่าอะไรทั้งหมด (Cat Magazine)เรื่องโดย คุณชมพู@หมอแมว
นักฝึกสุนัขหลายท่านคงปวดหัว หากมีใครไหว้วานขอให้ไปช่วยฝึกน้องแมวที่บ้าน ข้อแม้มีไม่มาก แค่ขอให้คาบหนังสือพิมพ์เข้าบ้าน หรือซุ่มกัดขาขโมยได้ก็ยังดี...ยอมจ่ายเท่าไหร่ก็ทุ่ม แต่รู้ไหมว่าเพราะความคิดของเขาทั้งคู่ ทั้งสุนัขและแมวนั้นแตกต่างกัน การฝึกแมวด้วยวิธีเฉพาะของน้องหมา จึงไม่สามารถใช้ได้กับแมว โดยเฉพาะอย่างยิ่งการฝึกที่ต้องใช้การลงโทษมาเป็นสื่อกลางในการกระตุ้น ยิ่งจะทำให้แมวมีพฤติกรรมกลับกัน แทนที่จะยอมเปลี่ยนพฤติกรรม แต่กลายเป็นดื้อเงียบ ต่อต้าน และพาลเกลียดกลัวผู้เลี้ยงอีกต่างหาก เพราะฉะนั้นหากจะต้องมีการฝึกการใช้ทฤษฎีการวางเงื่อนไขแบบคลาสสิกจะเป็นวิธีที่ดีที่สุดในการปรับพฤติกรรมน้องแมวให้ได้ดั่งใจ ยิ่งเราตั้งรางวัลให้เขามากเท่าไร เขาก็จะยิ่งเรียนรู้ได้เร็ว ถึงแม้จะฟังดูแปลก ๆ แต่นี่เป็นเรื่องจริง หากคิดจะปรับพฤติกรรมน้องแมว การได้ทดลองและเรียนรู้ของเขาจะทำให้เขาจำได้ว่าหากเขาทำสิ่งนี้ เขาจะได้สิ่งนั้น และหากเขาต้องการสิ่งนั้นเพิ่มเติม เขาต้องทำสิ่งนี้ ทำเป็นทอด ๆ เช่น... กิจกรรม 1 : ฝึกการขับถ่ายเป็นที่เป็นทาง1. ต้องการให้ขับถ่ายบนทรายสุขภัณฑ์สำหรับแมว - นำมูลเก่ามาวางเพื่อให้ติดกลิ่น - อุ้มน้องแมวมาลงพื้นที่ให้ชิน - น้องแมวขับถ่ายใหม่ - ทำความสะอาดแมว ได้รับการลูบหัว เกาคาง และขนมรสตับเป็นของรางวัล2. ถึงเวลาขับถ่าย - อุ้มแมวมาลงพื้นที่ - น้องแมวขับถ่าย - ได้รางวัล3. ถึงเวลาขับถ่าย - น้องแมวเดินมาเอง - น้องแมวขับถ่ายเอง - รอรับรางวัล จากกิจกรรมที่ 1 จะเห็นว่า การขับถ่ายของเขาจะเป็นปกติโดยธรรมชาติ เพียงแต่เขาจะยึดติดว่า หากขับถ่ายเสร็จแล้วจะได้กินขนม เขาก็จะอ้อน หรือร้องขอให้อยู่ในบริเวณที่เขาเคยได้ จะทำอยู่เช่นนั้นจนติดเป็นพฤติกรรมกึ่งถาวร
กิจกรรมที่ 2 : ฝึกการเข้า-ออก นอกบ้าน (โดยหน้าต่าง)1. ถึงเวลาออกไปเล่น - อุ้มเขามาในพื้นที่ เปิดหน้าต่างให้เห็นต่อหน้าต่อตา - แนะแนวทางให้เขาออกลอดหน้าต่างไปเล่นได้ - กะเวลาเรียกให้กลับมาโดยเรียกเขาที่หน้าต่างจุดเดิม - เมื่อเขากกระโดขึ้นมาจะขอเข้าบ้านที่หน้าต่างจุดเดิม เปิดรับ พาไปเช็ดเนื้อตัวแล้วให้ขนม2. ถึงเวลาออกไปเล่น - อุ้มเข้ามาในพื้นที่ - เปิดหน้าต่างนำทางให้เขาออก - เรียกเข้าบ้นเมื่อถึงเวลาตามกำหนด - วิ่งเข้าบ้านเมื่อเรียก และได้ขนมเป็นรางวัล3. ถึงเวลาออกไปเล่น - เดินมาเอง ร้องขออก - เปิดหน้าต่าง เขากระโดดออกไปเอง - ถึงเวลามาร้องขอเข้าบ้านเอง - เข้าบ้านรอกินขนม จากกิจกรรมที่ 2 จะเห็นได้ว่า หากเกิดการกระทำซ้ำ ๆ บ่อย ๆ จะทำให้เขาจำได้ และรู้ว่าจะต้องทำอย่าไรจึงจะได้ขนมมาครอบครอง ในระยะแรกจำเป็นต้องบอกใบ้นำทาง อำนวยความสะดวกในการเปิดหน้าต่างส่งและรับเขา แต่ต่อมาถึงแม้ว่าผู้เลี้ยงยังนอนอ่านการ์ตูนอยู่ เมื่อถึงเวลาออก เขาก็จะเดินมาส่งเสียงเมี้ยว ๆ ขอออก ซึ่งคุณก็ต้องหยุดอ่านหนังสือแล้วเปิดหน้าต่างให้เขาออกไปเล่น และคอยอยู่รับเมื่อเขาร้องเมี้ยว "ขอเข้าบ้านหน่อย" ที่สำคัญ เมื่อเข้าบ้านแล้ว อย่าลืมทำความสะอาดเนื้อตัว เพราะช่วงนี้เชื้อโรคกำลลังระบาด ดีไม่ดี หากเรารักษาความสะอาดไม่เพียงพอ น้องแมวที่น่ารัก อาจกลายเป็นพาหะนำเชื้อไวรัสตัวร้ายเข้าบ้านได้โดยที่ไม่รู้ตัว กิจกรรมที่ 3 : ไปอาบน้ำกันบ้าง1. เตรียมอุปกรณ์ให้ครบแล้วอุ้มน้องแมวเข้าห้องน้ำ - วางบนอ่างล้างหน้า พร้อมขวดแชมพู & คอนดิชันเนอร์ - น้ำลูบตัว แชมพูลง แล้วเริ่มอาบน้ำ ถูขน - น้องแมวจะดิ้นพราด ๆ เหมือนจะโดนฆาตกรรม -*- - อาบน้ำเสร็จ เช็ดตัว ปลอบประโลมด้วยขนมสำหรับแมว2. อุ้มเข้าห้องน้ำ - วางลงที่อ่างล้างหน้า เปิดผักบัว หรือสายยางแล้วแต่จะอำนวย - ลงแชมพู อาบน้ำขัดตัว - น้องแมวดิ้นพราด ๆ อีกครั้ง - เช็ดตัวแปรงขน แล้วให้ขนมที่เขาโปรดปราน3. อุ้มเข้าห้องน้ำ - ตอนนี้เหมือนรู้ตัวแล้ว ร้องครางด้วยความหวาดระแวงเล็กน้อย - เริ่มการอาบน้ำอย่างจริงจัง - ดิ้นนิดหน่อย - เช็ดตัว แปรงขน แล้วตามด้วยขนมอร่อย จากกิจกรรมที่ 3 จะเห็นว่า ภารกิจการอาบน้ำน้องแมวค่อนข้างยากลำบาก และมีการเปลี่ยนแปลงพฤติกรรมได้ช้ากว่าภารกิจอื่น เนื่องด้วยแมวไม่ชอบถูกอาบน้ำ เขาจะรู้สึกว่ามันไม่ปลอดภัย ฉะนั้นเราต้องปกป้องเขาด้วยการปลอบประโลม ลูบตามเนื้อตัวหัวหูให้เขาได้อุ่นใจ ในกรณีนี้ พฤติกรรมที่ดีขึ้นสำหรับเขาที่เราสังเกตได้ก็คือ การที่เขาดิ้นน้อยลงเวลาอาบน้ำ หรือแทบไม่ดิ้นเลย อย่างเก่งก็เอาหน้าซุกพุงคนอาบน้ำให้ เพราะมันคงเป็นไปได้ยาก หากน้องแมวจะให้ความร่วมมือ โดยการยืนนิ่งยอมให้เราอาบน้ำได้อย่างสบายใจ ทั้ง 3 กิจกรรมนี้ เป็นกิจกรรมพื้นฐานที่ผู้เลี้ยงสามารถนำไปฝึกได้โดยไม่หักหาญน้ำใจเขาสักเท่าไหร่ เพราะการที่จะฝึกน้องแมวให้ได้อย่างน้องหมา มันก็ยากพอ ๆ กับให้น้องหมามีพฤติกรรมเหมือนน้องแมว สัตว์แต่ละสายพันธุ์ก็มีลักษณะเฉพาะตัวที่ต่างกัน ได้โปรดอย่าคาดว่าว่าลูกฉันทุกตัวจะต้องทำได้อย่างในละคร คิดเอาง่าย ๆ ก็ได้ว่า คนเราทุกคนมีมือเท้าเท่ากัน แต่มีความสามารถไม่เท่ากัน ฉันใดก็ฉันนั้นค่ะเกร็ดน่ารู้ LOVE ME LOVE MY CAT ช่วงเวลาที่ดีที่สุดในการฝึกน้องแมวก็คือ ตั้งแต่เขาเพิ่งเป็นเด็กน้อยหัดรู้ความ เพราะยิ่งโต ความดื้อรั้นและความเคยชินของเขาจะทำให้เราไปปรับเปลี่ยนพฤติกรรมของเขาลำบาก หากผู้เลี้ยงไม่มีความอดทนเพียงพอ การฝึกฝน เพื่อปรับพฤติกรรมของน้องแมวก็จะไม่มีวันสำเร็จ ให้เวลากับเขาอีกนิด ฝึกกันไปอีกหน่อย แล้วคุณจะรู้ว่า น้องแมวที่เขามีตารางเวลาชัดเจน มันช่างเลี้ยงง่าย และทำให้เรามีความสุขเพียงใด
https://pet.kapook.com/view19539.html
เครดิตภาพ
https://www.pinterest.com/pin/682999099716943259/