เรื่อง : น.สพ.กมล ภาคย์ประเสริฐ
เรื่องเริ่มมาจากต้นเดือนมกราคมที่ผ่านมามีเจ้าของแมวที่ผมรู้จักมานานคนหนึ่งมาปรึกษาว่าอยากเลี้ยงแมวเพิ่มที่บ้านอีกตัว พบเห็นกันอยู่บ่อย ๆ นะครับที่คนที่เลี้ยงแมวอยู่ตัวเดียวติดใจในนิสัยของแมวที่รักสะอาด เลี้ยงง่าย และไม่ส่งเสียงดังจนเกิดอยากเลี้ยงแมวเพิ่มอีกตัวเพื่อเป็นเพื่อนกับแมวที่บ้าน สิ่งสำคัญสำหรับเจ้าของที่อยากเลี้ยงแมวมากกว่า 1 ตัว ควรรู้คือสังคมการอยู่ร่วมกันของแมวมีความซับซ้อน การจัดการที่ไม่ดีอาจนำมาซึ่งความเครียดของแมวที่อยู่ร่วมกัน หรือบางครั้งอาจถึงขั้นมีการทะเลาะเบาะแว้งกันภายในบ้านได้ มาเรียนรู้และทำความเข้าใจเพื่อเตรียมความพร้อมกันดีกว่าครับ
แมวที่เลี้ยงไว้ อยากมีเพื่อน?
หากคุณเลี้ยงแมวแบบที่มีการปล่อยออกไปนอกบ้าน โดยภายในบ้านมีที่พักที่ปลอดภัย มีของเล่นให้เล่น มีอาหารให้กิน และเจ้าของให้เวลาในการเล่นกับแมวอย่างเพียงพอ ไม่มีความจำเป็นต้องเลี้ยงแมวเพิ่มอีกตัวเลยครับ เพราะแมวของคุณมีความสุขดีอยู่แล้ว พฤติกรรมในธรรมชาติของแมวเป็นสัตว์สังคมประเภทที่มีความยืดหยุ่นสูง คือจะอยู่ร่วมกันเป็นกลุ่มแค่บางช่วงเวลา และจะใช้เวลาส่วนใหญ่อยู่ตัวเดียวเสียมากกว่า เนื่องจากเหยื่อที่จับได้ในธรรมชาติเป็นหนูและสัตว์ขนาดเล็กซึ่งไม่สามารถแบ่งร่วมกับแมวตัวอื่นได้ แมวแต่ละตัวจะมีอุปนิสัยที่แตกต่างกันไป สำหรับแมวที่อัธยาศัยดีอาจจะเดินไปหาแมวตัวอื่นนอกบ้านเพื่อมีปฏิสัมพันธ์บ้างเป็นครั้งราว ในขณะที่แมวบางตัวที่รักสันโดษอาจเลือกอยู่เพียงลำพังโดยไม่ต้องการเจอแมวตัวอื่นเลย ดังนั้นถ้าเราเลี้ยงแมวให้อยู่แต่ในบ้าน แล้วอยากให้แมวมีเพื่อนคงต้องสังเกตพฤติกรรมแมวตัวนั้นให้แน่ใจก่อนครับว่ามีนิสัยแบบไหน
แมวประเภทไหนที่เหมาะจะเลี้ยงเพิ่ม
กรณีที่อยากเลี้ยงแมวเป็นคู่ตั้งแต่ต้น แนะนำว่าควรเลือกจากแมวที่เป็นพี่น้องกันนะครับ เพราะโดยธรรมชาติแล้วสังคมแมวจะไม่ยอมรับแมวตัวอื่นที่อยู่นอกกลุ่มง่ายๆ ไม่อย่างนั้นอีกทางเลือกหนึ่ง คือเลี้ยงแมวที่มีอายุน้อยกว่า 7 สัปดาห์ครับ แมวในช่วงวัยนี้หากโตขึ้นมาด้วยกัน มักไม่ค่อยพบปัญหามากนัก
กรณีที่มีแมวตัวเดิมที่บ้านอยู่แล้วอยากเลี้ยงเพิ่ม แนะนำว่าแมวตัวใหม่ควรให้มีอายุน้อยกว่าแมวตัวเก่าที่บ้านครับ และควรเป็นเพศที่ตรงขามกับแมวตัวเดิม โอกาสที่แมวตัวเดิมยอมรับจะมีมากขึ้น แมวโตบางตัวจะมีปัญหาเวลาเจ้าของเอาลูกแมวใหม่เข้ามาเลี้ยงในบ้าน เพราะมักไม่ชอบเวลาลูกแมวเข้ามาเล่นด้วย การเลี้ยงลูกแมวสองตัวจะช่วยให้ลูกแมวเล่นกันเองและรบกวนแมวโตน้อยลง
เมื่อสูญเสียแมวที่บ้านไปควรหาตัวใหม่ทันที?
หากแมวบ้านที่เคยเลี้ยงคู่กันมาตลอดตัวหนึ่งตายไป อย่าเพิ่งเลี้ยงแมวใหม่ครับ แมวที่เป็นพี่น้องครอกเดียวกันหรือเลี้ยงร่วมกันมาตั้งแต่เล็กๆ จะมีความผูกพันกันมากเป็นพิเศษ หากมีตัวใดหายไป แมวอีกตัวมักจะเดินหาและจะร้องเรียก ซึ่งบางครั้งพฤติกรรมนี้อาจกินเวลาหลายเดือนอย่านำแมวใหม่เข้ามาในช่วงนี้เด็ดขาด ไม่มีแมวตัวไหนแทนที่แมวตัวเดิมได้ การนำแมวใหม่เข้ามาในช่วงนี้จะทำให้เกิดสภาพความตึงเครียดระหว่างแมวภายในบ้าน ควรรอให้พฤติกรรมดังกล่าวหมดไปก่อน ค่อยแนะนำแมวใหม่เข้ามาในบ้าน โอกาสที่แมวตัวเดิมในบ้านยอมรับจะมีมากขึ้น แต่จะไม่มีทางผูกพันกับแมวตัวใหม่มากเท่ากับตัวที่ตายไป
เตรียมบ้านให้พร้อมรับแมวใหม่
แมวที่อยู่ในบ้านจะมีการยืดครองพื้นที่สำหรับตัวเองไว้อยู่แล้ว ดังนั้นเมื่อมีแมวตัวใหม่เข้ามา การจัดสรรพื้นที่ใหม่ระหว่างแมวจะเกิดขึ้นเจ้าของจำเป็นต้องเตรียมชามอาหาร ชามน้ำ บริเวณสำหรับนั่งเล่น และกระบะทราย ไว้ให้เพียงพอกับแมวที่เพิ่มขึ้น เพราะแมวทุกตัวล้วนอยากมีสิ่งจำเป็นพื้นฐานเหล่านี้เป็นของตัวเองทั้งนั้น บริเวณพื้นที่แนวราบในบ้านอาจจะไม่สามารถขยายได้ แต่เจ้าของสามารถหาชั้นหรือหิ้งไว้ให้แมวปีนป่ายหรือขึ้นไปนอนเล่นเพื่อเพิ่มพื้นที่ในแนวดิ่งได้ การปรับเปลี่ยนเหล่านี้ควรทำก่อนที่แมวตัวใหม่จะเข้ามาอยู่ครับ
ในช่วงแรกที่จะนำแมวใหม่มาเข้าบ้าน ให้เจ้าของเตรียมห้องไว้ให้แมวตัวใหม่อยู่ในช่วงแรก ห้องควรจะต้องมีกลอนเพื่อกันไม่ให้แมวตัวอื่นๆ ในบ้านเข้าไปได้ ภายในห้องควรมีการเตรียมของเล่น ชามอาหาร ชามน้ำ กระบะทราย และที่สำหรับพักผ่อนหรือซ่อนตัวไว้ให้พร้อม เจ้าของและคนอื่น ๆ ในบ้านอาจจะทยอยเข้าไปทำความคุ้นเคยกับแมวในห้องนี้ ให้เวลาแมวใหม่เดินสำรวจสถานที่ในห้องและปรับตัวให้คุ้นเคยกับสภาพแวดล้อม 2 ถึง 3 วัน ก่อนที่จะเริ่มแนะนำให้รู้จักกับแมวตัวอื่นในบ้าน
4 ขั้นตอนในการแนะนำให้แมวรู้จักกัน
ขั้นที่ 1 แนะนำด้วยกลิ่นก่อน
หาเศษผ้าที่ไม่ใช้แล้วโดยให้เขียนชื่อของแมวลงบนเศษผ้าแต่ละชิ้น นำเศษผ้าไปเก็บกลิ่นโดยนำไปถูบริเวณหน้าและสีข้างของแมวที่มีชื่อตรงกับบนเศษผ้า เก็บเศษผ้าแต่ละชิ้นแยกกันไว้ในถุงพลาสติกอย่างมิดชิดเพื่อไม่ให้กลิ่นมาปนกัน ต่อไปให้เจ้าของนำอาหารหรือขนมไปให้แมวตัวใหม่ที่ยังอยู่ในห้องพักที่แยกจากแมวตัวอื่น โดยนำเศษผ้าที่มีกลิ่นของแมวตัวอื่นในบ้านพันไว้ที่มือ ในช่วงแรกแมวตัวใหม่อาจถอยหลัง ขู่หรือทำตัวแข็ง ห้ามไปบังคับแมวเด็ดขาด รอให้แมวพร้อมและเดินเข้ามาหาคุณเอง ค่อยๆ ใช้เวลาให้แมวปรับตัวทำความเคยชินกับกลิ่น เมื่อแมวรู้สึกคุ้นเคยและทำตัวเป็นปกติเหมือนไม่ได้กลิ่นอะไรแปลกปลอมเราจึงจะเข้าสู่ชั้นที่ 2 ในระหว่างชั้นที่ 1 นี้ ควรนำผ้าที่มีกลิ่นของแมวตัวใหม่ไปให้แมวตัวอื่นในบ้านทำความคุ้นเคยด้วย โดยให้ใช้วิธีการเดียวกัน
ขั้นที่ 2 ผสมกลิ่นเข้าด้วยกัน
นำเศษผ้าที่มีกลิ่นของแมวใหม่และแมวตัวเดิมมาผสมกลิ่นโดยการเก็บไว้ในถุงพลาสติกเดียวกันทำซ้ำวิธีการเดียวกับในขั้นที่ 1 เมื่อแมวยอมรับกลิ่นที่ผสมกัน ให้นำผ้าผืนนั้นไปถูที่บริเวณที่แมวมักชอบนำหน้าไปถูบ่อย ๆ เช่น บริเวณมือ ขาเจ้าของ หรือเฟอร์นิเจอร์ต่าง ๆ คอยสังเกตพฤติกรรมแมว เมื่อแมวนำหน้าไปถูกับของที่มีกลิ่นของแมวตัวอื่นผสมอยู่อย่างสบายใจ เราจะเข้าสู่ขั้นที่ 3 กัน แต่ต้องไม่ลืมใช้วิธีการนี้ให้ครบกับแมวทุกตัวในบ้านก่อนนะครับ
ขั้นที่ 3 ให้แมวใหม่ทำความคุ้นเคยกับบ้าน
ตอนนี้เราจะให้แมวตัวใหม่ได้ออกจากห้องพักมาสำรวจบ้านกัน โดยให้แยกแมวตัวอื่นเข้าไปพักอยู่ในห้องอื่นชั่วคราวก่อน ปล่อยให้แมวตัวใหม่ได้เดินสำรวจบ้านอย่างเต็มที่เพื่อจะได้รู้ว่าอาหาร น้ำ และกระบะทรายอยู่ที่ไหน ที่สำคัญคือแมวจะได้รู้จักสถานที่สำหรับหลบซ่อนตัวและทางหนีทีไล่ เวลาที่เจอแมวตัวอื่นแล้วรู้สึกไม่สบายใจ เมื่อเรารู้สึกว่าแมวรู้จักสถานที่ต่าง ๆ ภายในบ้านเป็นอย่างดีแล้วก็เข้าสู่ขั้นตอนสุดท้ายกันเลยครับ
ขั้นที่ 4 ให้แมวเจอหน้ากัน
ถึงขั้นนี้แมวพร้อมที่จะเจอหน้ากันแล้วครับ แต่เพื่อความไม่ประมาทควรจะให้เจอกันแบบที่มีกระจกหรือรั้วกั้นอยู่ก่อน หากสถานที่ในบ้านไม่พร้อมอาจใช้วิธีการเปิดประตูแง้ม ๆ ไว้ให้พอเห็นหน้าและได้กลิ่นกันแต่แมวต้องไม่สามารถเดินเข้าออกได้นะครับ ให้เอากลิ่นที่ผ้ามาถูที่บริเวณขอบประตูหรือรั้วด้วย ระหว่างนี้ให้ใช้หลักการเบี่ยงเบนความสนใจโดยในช่วงเวลาของมื้ออาหาร ให้แมวกินอาหารพร้อมกันโดยให้อยู่กันคนละฝั่งของรั้ว หรืออาจจะหาเกมสนุก ๆ มาเล่นกับแมว เพื่อให้แมวลดความสนใจในแมวอีกตัวลง หากแมวไม่แสดงอาการกลัวหรือแสดงความก้าวร้าวให้เห็น แสดงว่าแมวของคุณพร้อมออกมาอยู่ร่วมกันแล้วครับ เจ้าของยังจำเป็นต้องนำผ้าที่มีกลิ่นของแมวผสมกันไปถูตามเฟอร์นิเจอร์ต่าง ๆ ภายในบ้านที่แมวชอบเอาหน้าไปถู จนกว่าจะเห็นแมวเอาหน้าไปถูกันและกันหรือเลียแต่งตัวให้กันถึงจะมั่นใจได้ว่าแมวยอมรับซึ่งกันและกันแล้ว
ช่วงเวลาที่ใช้ตั้งแต่ขั้นที่ 1 ถึง 4 อาจกินเวลาตั้งแต่ 2 สัปดาห์จนถึง 2 เดือนขึ้นอยู่กับแมวแต่ละตัว แต่เชื่อเถอะครับว่าไม่มีทางลัดสำหรับคามรักของแมว ทุกอย่างจำเป็นต้องใช้เวลา ในเดือนหน้าจะเป็นตอนต่อเกี่ยวกับสังคมแมวภายในบ้านครับ บ้านที่มีปัญหาแมวทะเลาะกันมักเกิดจากสาเหตุอะไร ที่สำคัญคือหากสังคมแมวภายในบ้านมีปัญหาอยู่อย่าเพิ่งเลี้ยงแมวตัวใหม่เด็ดขาดนะครับ
สำหรับผู้ที่มีปัญหาเกี่ยวกับพฤติกรรมของสัตว์เลี้ยงภายในบ้าน สามารถปรึกษาได้ทาง www.facebook.com/petmanner
ขอขอบคุณข้อมูลจาก
https://pet.kapook.com/view38387.html
เครดิตภาพ https://www.pinterest.com/pin/407646203782257788/
No comments:
Post a Comment