โดย....อ.น.สพ.จตุพร หนูสุด ภาควิชาเวชศาสตร์คลินิกสัตว์เลี้ยง
คนเลี้ยงแมวทั้งหลายคงจะเคยได้ยิน "โรคไข้หัดแมว" กันมาบ้าง โรคไข้หัดแมวนี้เป็นโรคที่เกิดจากเชื้อไวรัสกลุ่มพาร์โวไวรัส (feline parvovirus) มีผลต่อระบบทางเดินอาหารของแมว (แต่ไม่มีผลต่อระบบทางเดินหายใจ เหมือนไข้หวัดแมว)
ทั้งนี้ มีรายงานการพบโรคนี้นานแล้ว ซึ่งสามารถพบในแมวทุกตระกูล ไม่ว่าจะเป็น เสือ สิงโต แมวป่า หรือแม้แต่แมวบ้านทุกพันธุ์ นอกจากนี้ยังพบได้ในสัตว์ตระกูลอื่น ๆ อีก เช่น สกั๊งค์ เฟอเร็ต มิ้งค์ แรคคูน ซึ่งโรคนี้ทำให้สัตว์มีอาการ "คล้ายเป็นหวัดและท้องเสีย" มีอาการเหมือนโรคไข้หัดสุนัข หรือโรคดิสเท็มเปอร์ ของสุนัข จึงมีคนเรียกชื่อต่าง ๆ มากมาย เช่น โรคไข้หัดแมว (Cat distemper) และ โรคลำไส้อักเสบในแมว (Feline Parvovirus Enteritis)
โรคไข้หัดแมวนี้จะรุนแรงมากในแมวอายุน้อย โดยมีอาการที่สำคัญที่พบคือ มีไข้สูง อาเจียน ท้องเสีย และมีผลต่อการทรงตัวของลูกแมว และทำให้ลูกแมวตาบอดได้ ส่วนในลูกแมวโตเมื่อเกิดการติดเชื้อระยะหนึ่งแล้วร่างกายสามารถสร้างภูมิ คุ้มกันได้ก็จะอาการดีขึ้น แต่แมวที่หายจากโรคใหม่ๆ สามารถพบเชื้อไวรัสออกมากับอุจจาระได้หลายสัปดาห์ ส่วนในแมวตั้งท้องอาจแท้งลูกหรือลูกตายหลังคลอดได้
การติดโรคเกิดขึ้นได้อย่างไร
แมว สามารถติดโรคไข้หัดแมวได้จากการติดต่อโดยตรงจากแมวป่วยไปยังตัวอื่น โดยเฉพาะทางอุจจาระ ภาชนะใส่อาหาร น้ำ กรงหรือที่ขับถ่ายของแมว พื้นดินที่ปนเปื้อนด้วยเชื้อไวรัส นอกจากนี้อาจเป็นเสื้อผ้าหรือรองเท้า การแพร่โรคได้ง่ายขึ้นระหว่างแมวที่เลี้ยงปนกันหลายๆ ตัว
อาการของแมวที่เป็นไข้หัดแมว
โรคไข้หัดแมว มีระยะการฟักตัวของโรค 2-7 วัน โดยแมวอายุน้อยส่วนใหญ่ตายอย่างรวดเร็ว อัตราการตายอยู่ระหว่าง 25-90% โดยแมวป่วยจะมีอาการไข้สูงเฉียบพลัน ซึม เบื่ออาหาร อาเจียน ท้องเสีย ร่างกายขาดน้ำ เป็นโรคที่มีอัตราการตายสูง โดยเฉพาะในกลุ่มแมวที่ไม่เคยได้รับการฉีดวัคซีน เมื่อตรวจเลือดพบเม็ดเลือดขาวต่ำมาก จึงมีชื่อเรียกโรคนี้ว่า "Feline Panleukopenia" เมื่อคลำบริเวณช่องท้องจะเจ็บท้อง บางทีพบเป็นลำของลำไส้หนาตัว ภายในมีแก๊สและของเหลว
เมื่อแมวของท่านเป็นโรคไข้หัดแมวควรทำอย่างไร
ควรพาไปพบสัตวแพทย์ทันที เพราะเป็นโรคติดต่อร้ายแรง โดยเฉพาะแมวที่ไม่กินอาหารเลย มีอาเจียน ท้องเสีย จะทำให้ร่างกายอ่อนเพลียทรุดโทรมมาก สัตว์อาจอยู่ในสภาพช็อคได้
สำหรับแนวทางการรักษาโรคนี้คือ การรักษาตามอาการและพยุงชีวิตให้สัตว์สามารถสร้างภูมิต้านทานต่อโรคได้ โดยการให้สารน้ำ (Fluid therapy) และ ฉีดยาร่วมด้วย โดยเฉพาะยาฆ่าเชื้อแบคทีเรียหรือยาปฏิชีวนะ เพื่อป้องกันโรคแทรกซ้อน นอกจากนี้อาจฉีดยาระงับการอาเจียนและลดการทำงานของลำไส้ โดยการงดอาหารและน้ำ ให้วิตามินบีรวมโดยการฉีดเข้าทางเส้นเลือด เนื่องจากโรคนี้เป็นโรคที่เกิดจากเชื้อไวรัส ซึ่งไม่มียาฆ่าเชื้อไวรัสโดยตรง มีแต่การรักษาเพื่อประคับประคองชีวิตเท่านั้น
ควรระวังแมวที่ยังไม่เป็นโรคไข้หัดอย่างไร
ควรรีบแยกแมวป่วยออกจากแมวปกติตัวอื่นทันที เพราะโรคนี้เป็นได้กับแมวทุกอายุ และต้องทำความสะอาดและฆ่าเชื้อโรคที่อาจแพร่ออกมากับอุจจาระ ปัสสาวะ ด้วยโซเดียมไฮโปคลอไรด์ เจ้าของแมวที่เพิ่งมีแมวตายด้วยโรคไข้หัดแมวใหม่ ๆ ไม่ควรนำลูกแมวที่ยังไม่เคยได้รับการฉีดวัคซีนเข้ามาเลี้ยงอีก
การป้องกันแมวที่คุณรักไม่ให้เป็นโรคไข้หัดแมว
การฉีดวัคซีนป้องกันโรค ซึ่งปัจจุบันมีวัคซีนป้องกันโรคไข้หัดแมวจำหน่ายหลายยี่ห้อ และยังเป็นวัคซีนรวมอีกด้วย คือ ใช้ป้องกันได้ทั้งโรคไข้หัดแมวและโรคไข้หวัดแมวไปพร้อม ๆ กัน ซึ่งสามารถรับการฉีดวัคซีนได้ตามคลินิกสัตวแพทย์ทั่ว ๆ ไป
ส่วนสัตว์ป่าตระกูลแมว และแมวทุกเพศ ทุกวัย ควรได้รับการฉีดวัคซีนป้องกันโดยใช้โปรแกรมเดียวกับแมวเลี้ยงดังนี้
โปรแกรมการฉีดวัคซีนป้องกันโรคไข้หัดแมว
เข็มที่ 1 ฉีดเมื่อลูกแมวอายุ 2 เดือน
เข็มที่ 2 ฉีดเมื่อลูกแมวอายุ 2 ½ เดือน
เข็มที่ 3 ฉีดทุกปี ปีละเข็ม
โรคไข้หัดแมวนี้ สามารถติดต่อถึงคนได้หรือไม่
โรคไข้หัดแมวนี้ เป็นโรคเฉพาะสัตว์ในตระกูลแมวเท่านั้น ไม่มีรายงานติดถึงคน เพราะฉะนั้นโรคไข้หัดแมวไม่ติดถึงคน
ขอขอบคุณข้อมูลจาก
https://pet.kapook.com/view12022.html
เครดิตภาพ https://www.pinterest.com/pin/148407750214819764/
No comments:
Post a Comment