อาการตัวเหลือง หรือที่เรียกกันว่า ดีซ่าน ไม่ได้เกิดขึ้นแต่เฉพาะในคนเท่านั้น สัตว์เลี้ยงสี่ขาอย่างเจ้าเหมียว ก็สามารถเป็นโรคตัวเหลืองได้เหมือนกัน แต่ในทางสัตวศาสตร์ เรียกโรค แมวตัวเหลือง นี้กันว่า "โรคฮีโมพลาสโมซีส" หรือ "โรคเลือดจางติดต่อในแมว"
แมวตัวเหลือง เกิดขึ้นได้อย่างไร
สาเหตุของโรค แมวตัวเหลือง เกิดจากเชื้อแบคทีเรียขนาดเล็กมากชนิดหนึ่ง ที่มีชื่อว่า "ไมโครพลาสมา" โดยพบว่าเชื้อชนิดนี้มีการระบาดในสุนัขและแมวทั่วโลก แต่สำหรับเชื้อที่ก่อให้เกิดโรคในแมวมี 3 ชนิด คือ
Mycoplasma hemofelis มีขนาดใหญ่ มีความรุนแรงมาก ทำให้เกิดภาวะเลือดจาง
Candidatus Mycoplasma haemominutum ขนาดเล็ก มักไม่ทำให้เกิดภาวะเลือดจาง แต่หากมีการติดเชื้อแทรกซ้อน ก็อาจถึงแก่ชีวิตได้
Candidatus Mycoplasma turicensis ก่อให้เกิดภาวะเลือดจางอย่างรุนแรง เป็นเชื้อที่ค้นพบหลังสุด
ทั้งนี้ มีรายงานว่า 1 ใน 3 ของแมวป่วยตายด้วยภาวะเลือดจางอย่างรุนแรง โดยโรคนี้พบมากในแมวเพศผู้ทุกช่วงวัย เนื่องจากแมวเพศผู้มีพฤติกรรมชอบออกนอกบ้าน และกัดกับแมวอื่น ส่วนความรุนแรงของโรคนั้นจะขึ้นอยู่กับความรุนแรงของภาวะเลือดจาง ชนิดของเชื้อ และภาวะทางภูมิคุ้มกันของสัตว์
การติดต่อของโรค แมวตัวเหลือง
หมัด หรือยุง ที่มีเชื้อมากัดแมว
ติดต่อทางเลือด เช่น การให้เลือด การกินเลือดที่ติดเชื้อโดยการกัดกันระหว่างสัตว์ที่เป็นโรคกับสัตว์ปกติ
ติดต่อผ่านทางรก หรือระหว่างการคลอด
อาการของโรค
แมวที่ติดเชื้อมักมีอาการซึม มีไข้ อ่อนเพลีย เบื่ออาหาร น้ำหนักลด เยื่อบุซีด บางครั้งมีสีซีดเหลือง หัวใจเต้นเร็ว หายใจเร็ว อย่างไรก็ดี แมวบางตัวที่ป่วยอาจไม่แสดงอาการใด ๆ จนกระทั่งตาย ซึ่งส่วนใหญ่จะตายจากภาวะเลือดจางอย่างรุนแรง
การรักษา แมวตัวเหลือง
โรคนี้สามารถทำการรักษาได้ แต่แมวจะไม่หายขาด ด้วยการให้ยาติดต่อกันนาน 3 สัปดาห์ ซึ่งแมวส่วนใหญ่จะตอบสนองต่อการรักษาดี แต่ทั้งนี้ทั้งนั้น ต้องอาศัยความร่วมมือจากเจ้าของที่ต้องป้อนยาให้ครบตามกำหนดด้วย แต่ในบางกรณีสัตวแพทย์อาจต้องทำการรักษาร่วมด้วย โดยการให้สารน้ำร่วมกับกลูโคส เพื่อปรับสภาพร่างกาย เพราะแมวที่ป่วยด้วยโรคนี้ มักจะซึม กินอาหารและน้ำลดลง
การป้องกันโรค แมวตัวเหลือง
ให้ยาป้องกันหมัดกับแมว เพื่อลดพาหะนำโรค
ให้แมวอยู่ในกรงมุ้งลวด เพื่อป้องกันยุงกัด
หากมีความจำเป็นต้องให้เลือด ควรตรวจแมวที่จะให้เลือดก่อน
ตรวจสุขภาพแมวก่อนที่จะตั้งท้อง เพื่อลดโอกาสการถ่ายทอดเชื้อจากแม่สู่ลูก
อย่างไรก็ตาม แม้ว่าโรคนี้จะเป็นโรคที่มีความรุนแรง และมีอัตราการตายสูงในแมว แต่ก็ยังไม่มีรายงานการติดเชื้อมาสู่คน
อ่านรายละเอียดทั้งหมดจาก
https://pet.kapook.com/view12428.html
เครดิตภาพ https://www.pinterest.com/pin/747597606891461484/
No comments:
Post a Comment