Monday, June 29, 2020

วิธีคุมกำเนิดแมว อย่างมีประสิทธิภาพ



การคุมกำเนิดแมวเหมียวอย่างมีประสิทธิภาพ (Cat Magazine)
เรื่องโดย พระรามแปดสัตวแพทย์

          เชื่อว่าคนเลี้ยงแมวไม่น้อยต้องเคยปวดหัวเนื่องจากแมวของเรา อยู่ดี ๆ ก็กลับมาคลอดลูกให้เราต้องคอยดูแล หรืออยู่ ๆ ก็ท้องโดยยังไม่พร้อมกันแน่เลย ดังนั้น วันนี้เราจะมาแนะนำถึงวิธีการคุมกำเนิดของเจ้าเหมียวอย่างมีประสิทธิภาพกัน

          เริ่มต้นเราต้องมีความเข้าใจก่อนว่า วงรอบการผสมพันธุ์ของแมวเป็นเช่นไร เพื่อจะได้วางแผนป้องกันและควบคุมได้อย่างถูกต้อง ซึ่งวงรอบการเป็นสัดของแมว พอจะแบ่งได้คร่าว ๆ ดังนี้

          1. ระยะแสดงอาการเป็นสัด เป็นระยะที่เจ้าเหมียวของเราจะเริ่มมีอาการเอาหัวหรือคางมาถูตามตัว หรือตามสิ่งแวดล้อม ระยะนี้จะกินเวลาประมาณ 1-2 วัน ถ้าเราสังเกตเห้นว่าเจ้าเหมียวของเราเริ่มมีอาการดังนี้ ก็ต้องเตรียมตัวหาทางป้องกันได้แล้ว

          2. ระยะยอมรับการผสม ระยะนี้จะตามมาจากระยะแรก ในแมวจะอยู่ที่ช่วงนี้ได้ตั้งแต่ที่ 2-20 วัน ระยะนี้อาจสังเกตได้จากการที่แมวเอาขาหน้าหมอบลงกับพื้น ส่วนขาหลังจะยืนเหยียดและโก่งหลังขึ้น เบี่ยงหาง ร้องเรียกตัวผู้ ช่วงนี้หากเจ้าเหมียวตัวเมียเจอตัวผู้แล้วล่ะก็... เตรียมเลี้ยงลูกแมวน้อยกันได้เลย

          3. ระยะหลังผสมพันธุ์ ในกรณีที่เจ้าเหมียวตั้งท้อง แม่แมวจะต้องเลี้ยงดูลูกแมวน้อยในครรภ์เป็นระยะเวลาประมาณ 60 วัน ถึงจะคลอด ตั้งแต่ช่วงเจ้าเหมียวอุ้มท้องจนถึงคลอดรับประกันได้ว่า เจ้าเหมียวของคุณจะไม่ท้องอีก แต่ถ้าหลังจากคลอดแล้วล่ะก็ระหว่างหน่อย เพราะแมวบางตัวสามารถผสมพันธุ์ต่อได้หลังคลอดเพียง 4-7 วันเท่านั้น

          4. กรณีที่ไม่เกิดการผสมพันธุ์ แมวจะใช้เวลาประมาณตั้งแต่ 7-30 วัน ในการกลับเข้าสู่วงจรในข้อ 1 ใหม่

          จากที่กล่าวมาจะเห็นได้ว่า ในแมวบางตัวอาจจะมีการผสมพันธุ์กันได้เร็วสุดประมาณ 1-2 สัปดาห์ต่อครั้ง ซึ่งหากแมวของเราไม่ได้ทำการป้องกันโดยการคุมกำเนิดอย่างถูกวิธีแล้วล่ะก็...รับรองเราจะมีเจ้าเหมียวน้อยกันเต็มบ้านแน่นอน เมื่อเราทราบถึงวงจรการผสมพันธุ์ของเจ้าเหมียวกันแล้ว เราก็มาทราบวิธีการป้องกันการตั้งท้องกันดีกว่า

วิธีการคุมกำเนิดในแมว มีมากมาย พอจะแยกแยะได้คร่าว ๆ ดังนี้

          1. การทำหมัน โดยการผ่าตัดเอารังไข่้และมดลูกของเจ้าเหมียวออก วิธีนี้เป็นวิธีคุมกำเนิดที่ได้ผลดีสำหรับเจ้าของที่ไม่ตั้งใจจะให้เจ้าเหมียวของเรามีลูกอยู่แล้ว เป็นการคุมกำเนิดในระยะยาว และมีข้อดีคือ ช่วยลดพฤติกรรมการร้องหาคู่ในแมวตัวเมียบางตัว เป็นการป้องกันการเกิดมดลูกอักเสบในแมวอายุมาก และหากทำหมันตั้งแต่ช่วงอายุน้อย (น้อยกว่า 1-2 ปี) จะช่วยลดปัญหาในการเกิดเนื้องอกเต้านมเมื่อเจ้าเหมียวอายุมากได้ด้วย

          ข้อเสียของวิธีนี้อยู่ที่แมวจะต้องถูกวางยาสลบและผ่าตัด ทำให้มีความเสี่ยงในการเสียชีวิตจาการวางยา หรือความเสี่ยงที่แผลผ่าตัดจะเกิดการติดเชื้อได้ อย่างไรก็ตาม หากทำการผ่าตัดโดยสัตวแพทย์ที่มีความชำนาญและมีการตรวจสุขภาพก่อนการผ่าตัด ก็จะช่วยลดความเสี่ยงในการวางยาสลบและการติดเชื้อที่แผลผ่าตัดได้อย่างมาก

          2. การกินยาคุมกำเนิด โดยการป้อนฮอร์โมนให้เจ้าเหมียว ยาประเภทนี้ต้องเป็นยาที่ใช้่สำหรับในแมวเท่านั้น ไม่สามารถใช้ยาคุมกำเนิดองคนได้ ในบ้านเรา ยาชนิดนี้หาซื้อไม่ค่อยได้ อีกทั้งยังมีผลข้างเคียงต่าง ๆ มากมาย ทำให้การคุมกำเนิดด้วยวิธีนี้ไม่เป็นที่นิยมในบ้านเรานัก

          3. การฉีดยาคุม ปัจจุบันยาที่เราใช้ในการฉีดกันในแมวมี 2 ชนิด คือ ยาคุมที่ใช้ในคน และยาคุมที่ใช้ฉีดในสัตว์เลี้ยงโดยเฉพาะ ที่จริงแล้วการฉีดยาคุมในแมวมีผลเสียหลายประการ เช่น เหนี่ยวนำทำให้เกิดภาวะมดลูกอักเสบได้ ทำให้เกิดเนื้องอกเต้านม นอกจากนี้ หากฉีดขณะที่แมวมีการตั้งท้องแล้ว ก็อาจจะส่งผลให้แมวเกิดการคลอดลูกไม่ได้ ซึ่งหากไม่ได้รับการช่วยเหลือ อาจส่งให้เสียชีวิตทั้งแม่และลูกได้

          จากที่กล่าวมา ทำให้ปัจจุบันไม่นิยมการฉีดยาคุมในแมวทุกกรณี อย่างไรก็ตาม หากจำเป็นที่จะต้องทำการฉีดยาคุมจริง ๆ ควรจะใช้ยาคุมสำหรับแมวโดยเฉพาะ เนื่องจากจะช่วยลดผลข้างเคียงจากยาได้ ก่อนทำการฉีดยาจะต้องพาเจ้าเหมียวไปให้สัตวแพทย์ทำการตรวจเพื่อหาระยะการเป็นสัดของแมวที่จะทำการฉีด เนื่องจากหากทำการฉีดโดยไม่มีการตรวจหาระยะที่เหมาะสมแล้วอาจทำให้ยาออกฤทธิ์ได้ไม่ดี หรือาจทำให้เกิดผลข้างเคียงต่าง ๆ ตามมาได้

          4. การฝังฮอร์โมน วิธีนี้เป็นวิธีที่ค่อนข้างใหม่ในบ้านเรา ทำได้โดยการฉีดฮอร์โมนเข้าไปภายในตัวเจ้าเหมียว เพื่อำทการคุมกำเนิด ข้อดีของวิธีนี้คือ ไม่จำเป็นต้องวางยาสลบ มีความปลอดภัยค่อนข้างสูงและมีผลข้างเคียงกับร่างกายไม่ค่อยมาก นอกจากนี้ในกรณีที่ต้องการลูกองเจ้าเหมียวในอนาคตก็สามารถทำได้โดยการผ่าตัดเอาก้อนฮอร์โมนออก เจ้าเหมียวก็จะสามารถกลับมามีลูกได้เหมือนเดิม ส่วนข้อเสียของวิธีนี้คือ ค่าใช้จ่ายค่อนข้างสูง จึงยังไม่เป็นที่นิยมในบ้านเรา ทำให้โรงพยาบาลที่รับการคุมกำเนิดด้วยวิธีนี้หาได้ค่อนข้างยาก

          จากทุกวิธีทั้งหมดที่กล่าวมาจะเห็นได้ว่ามีข้อดีข้อเสียแตกต่างกันไป ขึ้นอยู่กับวิธีที่เลือกใช้ ซึ่งการเลือกใช้วิธีการคุมกำเนิดที่เหมาะสมก็เพื่อจะช่วยให้เราไม่ต้องมาคอยกังวลกับเจ้าเหมียวน้อยที่จะคอยมาวิ่งเต็มบ้านเราในกรณีที่ไม่พร้อมจะรับเลี้ยงสมาชิกแมวเหมียวเป็นจำนวนมาก และลดผลข้างเคียงที่เกิดกับเจ้าเหมียวสุดที่รักของเราให้น้อยที่สุดด้วย เพื่อเจ้าเหมียวสุดที่รักจะได้สุขภาพแข็งแรง อยู่กับเราไปนาน ๆ

ขอขอบคุณข้อมูลจาก

https://pet.kapook.com/view21431.html
cr. pic. https://www.pinterest.com/pin/760967668292207877/

Friday, June 5, 2020

เช็คร่างกายเหมียวกันหน่อย…



เช็คร่างกายเหมียวกันหน่อย…(นิตยสารโลกสัตว์เลี้ยง)

          การเลี้ยงแมวสักตัวนั้น ไม่ใช่เพียงแค่ให้ข้าว ให้น้ำ ให้เจ้าเหมียวมีชีวิตรอดไปวันๆ ซึ่งจริงๆ แล้ว เจ้าเหมียวไม่ได้ต้องการเพียงแค่นั้น แต่เจ้าเหมียวยังต้องการความรัก ความเอาใจใส่อีกด้วย การดูแลเอาใจใส่นอกจากจะได้เรียนรู้ถึงพฤติกรรมต่างๆ ของเจ้าเหมียวแล้ว  หากพบสิ่งผิดปกติที่เกิดขึ้นกับเจ้าเหมียวเราก็ยังสามารถรู้ได้เร็วและสามารถที่จะเยียวยาและรักษาได้ทันท่วงทีอีกด้วย

          พูดถึงเรื่องการใส่ใจแล้ว วันนี้เรามีวิธีใส่ใจเจ้าเหมียวแบบง่ายๆ มาฝากกัน แต่ประโยชน์ที่ได้นั้นมหาศาล นั่นก็คือการตรวจสุขภาพเจ้าเหมียวแบบคร่าวๆ นั่นเอง วิธีการจะเป็นอย่างไรบ้างนั้น ตามมาดูกันเลย...

          การตรวจร่างกายเจ้าเหมียวนั้นจะเริ่มตรวจไล่ตามส่วนต่างของร่างกายเจ้าเหมียว เริ่มจาก...

           ส่วนหัวและคอ หน้าของน้องเหมียวจะต้องอยู่ในลักษณะที่สมดุล ไม่โย้ ไม่บวม ไม่ฟีบ ดวงตาเป็นประกายสดใส ขนาดม่านตาปกติ และคอยสังเกตว่ามีเส้นเลือดโป่งหรือแดงผิดปกติในตาหรือเปล่า ใบหูสีผิดปกติหรือไม่ มีน้ำหนองหรือขี้หูไหลเยิ้มหรือเปล่า

           รูจมูก จะต้องไม่มีสิ่งใดอุดตันหรือแห้งเกรอะกรัง สำหรับช่องปากจะต้องดูสีเหงือกว่าซีดไหม และดูบาดแผลที่เกิดขึ้น

           ช่องปาก ตรวจดูคราบหินปูน และดูว่ามีเศษอาหารติดที่ซอกฟันหรือไม่ มีกลิ่นปากหรือเปล่า ควรจะพาแมวไปตรวจสุขภาพปากและฟันทุกๆ 6 เดือน

           ลำตัว จะดูจากความสมดุลของลำตัว สังเกตุได้จากกระดูกซี่โครงเชิงกราน และกระดูกสันหลัง จากนั้นใช้ฝ่ามือกดจากทั้ง 2 ข้างของลำตัวดูว่าอ่อนนุ่ม แข็ง หรือตึงกว่าปกติไหม หรือว่าเจ้าเหมียว แสดงอาการเจ็บปวดออกมาเมื่อถูกสัมผัส แบบนี้แสดงว่าน่าจะเกิดอาการผิดปกติ

           อวัยวะเพศ ต้องคอยดูว่ามีอาการบวมแดงหรือเปล่า รวมถึงกลิ่นที่ผิดปกติด้วย การสังเกตการก้าวย่างจากการมองหลายๆ มุม เพื่อดูว่าเขาสามารถเดินได้อย่างปกติไหม และลองจับขายืด หด งอตามข้อต่อ ดูว่าเจ้าเหมียวต้องไม่มีความเจ็บปวดเกิดขึ้น แต่ต้องทำเบาๆ ไม่ต้องใช้ความรุนแรงเดี๋ยวจากน้องเหมียวจะเกิดอาการบาดเจ็บได้

           ผิวหนัง จะต้องคอยดูว่าเกิดสะเก็ดบนผิวหนังหรือเปล่า รวมถึงการไม่ปล่อยให้ขนแมวพันอีนุงตุงนัง หรือขนร่วงและตรวจดูเล็บเท้าว่าสั้นหรือยาวไปไหม

           นอกจากนี้แล้วยังต้งอสังเกตการกินน้ำ กินอาหาร การขับถ่าย ว่ากินน้ำมากกว่าปกติหรือเปล่า หรือเบื่ออาหารไหม หรือมีอาการท้องผูกท้องร่วงซึ่งอาการฉี่ไม่ออก จะพบได้ในแมวที่มีอายุมากขึ้น รวมถึงสังเกตอาการผิดปกติอื่นๆ อีกด้วย  วิธีการตรวจเช็คร่างกายแบบง่ายๆ อย่างนี้ เชื่อว่าใครๆ ก็สามราถที่จะทำได้ แต่หากพบสิ่งผิดปกติที่เกิดขึ้น การปรึกษาสัตวแพทย์นั้น คงจะเป็นสิ่งที่จำเป็นที่สุดค่ะ


ขอขอบคุณข้อมูลจาก

ฉบับเดือนมิถุนายน 2552
https://pet.kapook.com/view876.html
เครดิตภาพ  https://www.pinterest.com/pin/747597606914141903/

Wednesday, June 3, 2020

ไม่ยาก ถ้าอยากให้เจ้าเหมียวขับถ่ายเป็นที่เป็นทาง


ไม่ยาก ถ้าอยากให้เจ้าเหมียวขับถ่ายเป็นที่เป็นทาง (สยามดารา)
 
          เชื่อว่าหลายๆ บ้านคงจะเจอปัญหานี้ เมื่อเวลาที่มีสมาชิกเจ้าเหมียวตัวน้อยเพิ่มขึ้นมา ปัญหาที่ว่าก็คือ เจ้าแมวน้อยไม่ยอมถ่ายในที่ๆ เตรียมไว้ให้ SmartHeart Smart Pet ฉบับนี้เรามีทางออกดีๆ มาแนะนำค่ะ แต่ก่อนอื่นเรามารู้กันก่อนดีกว่าว่าธรรมชาติการขับถ่ายของเจ้าเหมียวเป็นอย่างไร

          ตามธรรมชาติแล้วเมื่อลูกแมวอายุ 2-3 อาทิตย์ ก็จะเริ่มมีกระบวนการขับถ่ายครั้งแรก ซึ่งผู้ที่จะคอยดูแล และสอนวิธีทำความสะอาดให้กับเจ้าตัวเล็กเหล่านี้ก็ไม่ใช่ใครอื่น นั่นก็คือ เจ้าเหมียวตัวแม่นั่นเองค่ะ หลังจากที่ลูกๆ กินนมอิ่มแล้ว แม่แมวจะเลียบริเวณปากทวารหนัก เพื่อเป็นการกระตุ้นให้เจ้าเหมียวน้อยขับถ่ายออกมา
         
          ในช่วงนี้นี่เอง ที่เราควรจะต้องเตรียมถาดทรายตื้นๆ ไว้ให้เจ้าตัวน้อย แต่ถ้าหากเจ้าตัวน้อยเกิดกลั้นไม่อยู่ ทำเอาพื้นห้องเปรอะเปื้อน อย่าเพิ่งอารมณ์เสีย แล้วลงโทษด้วยความรุนแรงนะคะ แต่สิ่งที่คุณควรทำก็คือ ทำความสะอาดให้หมดกลิ่น ไม่เช่นนั้นเจ้าตัวน้อยจะย้อนกลับมาถ่ายที่เดิม เพราะว่าจำกลิ่นของตัวเองได้นั่นเอง

          หรือบ้านไหนเลี้ยงแมวไว้ในกรง ไม่ยากเลยค่ะ ถ้าเจ้าเหมียวจะบอกกับคุณว่าเขาต้องการขับถ่าย อาการคุ้ยพื้น ตะกุยกรง ก็คือการร้องขอออกไปขับถ่าย แต่ถ้าหากคุณไม่ใส่ใจ และไม่ปล่อยเขาออกมา เจ้าเหมียวก็จะอั้นของเสียเอาไว้ แล้วผลที่จะตามมาในภายภาคหน้าก็คือ อาการท้องผูก ทำให้กระเพาะปัสสาวะยืด และเป็นอันตรายต่อเจ้าเหมียวมากๆ เลยนะคะ

          ปัญหาสำคัญอีกอย่างก็คือ เจ้าเหมียวไม่ยอมขับถ่ายในถาดที่เคยใช้อยู่ประจำ และวิธีการแก้ปัญหาง่ายๆ ก็คือเปลี่ยนทรายในถาดใหม่ ขยายกระบะให้ใหญ่ขึ้น หรือ คุณอาจจะสอนให้เจ้าเหมียวออกไปขับถ่ายนอกบ้าน แต่ต้องเตรียมทางเข้าออกให้ง่าย โดยใช้บานประตูเปิด-ปิด สำหรับแมวโดยเฉพาะ

          ซึ่งอาจจะต้องใช้ความอดทนในช่วงแรกๆ เพราะเจ้าเหมียวอาจจะกลัวการถูกบานประตูหนีบ ขณะผ่านเ ข้า-ออก ซึ่งคุณก็สามารถช่วยเจ้าเหมียวได้ด้วยการช่วยจับบานประตูให้เจ้าเหมียวเข้า-ออกได้สะดวกก่อน และพยายามให้เจ้าเหมียวคุ้นชินกับเส้นทางนี้ แล้วค่อยๆ ลดความช่วยเหลือลง จนในที่สุดเจ้าเหมียวก็จะคุ้นเคยและสามารถใช้อุ้งเท้าผลักบานประตูเปิดออกเองได้

          เห็นไหมคะ ง่ายๆ แค่นี้เอง และต่อไปนี้คุณก็ไม่ต้องมีเรื่องกังวลใจเกี่ยวกับการขับถ่ายของเจ้าเหมียวน้อยอีกแล้วล่ะค่ะ

ขอขอบคุณข้อมูลจาก

https://pet.kapook.com/view6165.html
เครดิตภาพ  https://www.pinterest.com/pin/747597606884395275/

Tuesday, June 2, 2020

การเลี้ยงดูแมวสูงอายุ


          การควบคุมดูแลแมวที่มีอายุมากของคุณเกี่ยวกับอาการของโรคต่างๆ (มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์)

          ถ้าแมวที่มีอายุมีท่าทางว่าเกิดการเปลี่ยนแปลงหลายๆอย่างเกี่ยวกับหน้าที่ของระบบต่างๆ ในร่างกายมากขึ้น อาจจะเกิดจากการเปลี่ยนแปลงจากการมีอายุมากขึ้น หรืออาจจะเกิดจากการมีโรคเกิดขึ้นก็ได้ ซึ่งเหล่านี้จะช่วยเตือนให้รู้ว่าเป็นโรคได้แต่เนิ่นๆ 

           1. การควบคุมการกินอาหาร ว่าจะให้กินเมื่อใด กินอาหารประเภทไหน มีการกินหรือการกลืนลำบากหรือเปล่า และอาเจียนหรือไม่ 

           2. การควบคุมการกินน้ำ โดยดูว่ามีการกินน้ำมากกว่าหรือน้อยกว่าปกติหรือไม่ 

           3. การควบคุมการขับถ่ายปัสสาวะและอุจจาระโดยดูที่ สี ปริมาณ ความเข้มข้น ความถี่ในการขับถ่าย หรือดูว่ามีอาการเจ็บปวดขณะปัสสาวะหรืออุจจาระหรือไม่ หรือดูว่ามีการขับถ่ายเรี่ยราดหรือไม่ 

           4. ชั่งน้ำหนักทุกๆ 2 เดือน 

           5. มีการตรวจและตัดเล็บ ตรวจดูแผลตามตัว รวมถึงกลิ่นที่ผิดปกติ การขยายใหญ่ของช่องท้องและดูว่ามีอาการขนร่วงหรือไม่ 

           6. การควบคุมด้านพฤติกรรม ดูการนอน การแสดงออกต่อผู้คนรอบข้างมีอาการตกใจง่ายหรือไม่ และลักษณะท่าทางการนอนผิดปกติหรือไม่ 

           7. การควบคุมด้านท่าทางและการเคลื่อนไหว เช่นมีการชักหรือไม่ การสูญเสียการทรงตัว หรือเจ็บขา 

           8. ดูความผิดปกติของการหายใจ หรือดูว่ามีการไอ มีการหอบหายใจ การจามหรือไม่ 

           9. ดูแลสุขภาพฟัน แปรงฟันให้แมวอย่างสม่ำเสมอ ดูว่ามีสิ่งผิดปกติในปากหรือไม่ ดูปริมาณน้ำลาย และดูลักษณะสีของเหงือกว่าเป็นสีเหลือง ชมพูหรือม่วง 

           10. ควบคุมอุณหภูมิของสิ่งแวดล้อมว่าแมวของคุณมีความสุขสบายหรือไม่ 

           11. พาไปตรวจสุขภาพกับสัตวแพทย์ของคุณเป็นประจำ


ลักษณะอาการที่พบบ่อยและโรคที่เกี่ยวข้อง 

           1. การเปลี่ยนแปลงทางพฤติกรรม โรคที่เกี่ยวข้อง คือ ความเจ็บปวดจากข้ออักเสบหรือสภาวะอื่นๆ การสูญเสียการมองเห็นและการได้ยิน โรคตับ โรคไต โรค Hepatic lipidosis 

           2. การอ่อนเพลียหรือเหนื่อยง่าย โรคที่เกี่ยวข้อง คือ การทำงานผิดปกติของ Mitral valve โรคหัวใจ โรคโลหิตจาง โรคอ้อน โรคมะเร็ง 

           3. การเปลี่ยนแปลงในด้านความกระตือรือร้นของร่างกาย โรคที่เกี่ยวข้อง คือ โรค Hyperthyroidism โรคข้ออักเสบ ความเจ็บปวดต่างๆ ความอ้วน โลหิตจาง ความผิดปกติของ Mitral valve และโรคหัวใจ โรคเบาหวาน โรคไต โรคตับ โรคมะเร็ง 

           4. น้ำหนักที่เพิ่มขึ้น โรคที่เกี่ยวข้อง คือ ความอ้วน 

           5. น้ำหนักลด โรคที่เกี่ยวข้อง คือ โรคมะเร็ง โรคไต โรคตับ โรคของระบบทางเดินอาหาร การกินอาหารลดลง Hyperthyroidism Hepatic lipidosis โรคฟัน ความผิดปกติของลิ้นหัวใจ Mitral valve โรคหัวใจ การอักเสบของลำไส้ 

           6. การไอ โรคที่เกี่ยวข้อง คือ โรคหอบ โรคระบบทางเดินหายใจ โรคมะเร็ง 

           7. การดื่มมากและปัสสาวะบ่อย โรคที่เกี่ยวข้อง คือ โรคเบาหวาน โรคตับ โรคไต Hyperthyroidism 

           8. การอาเจียน โรคที่เกี่ยวข้อง คือ โรคไต โรคตับและโรคของระบบทางเดินอาหาร 

           9. อาการท้องเสีย โรคที่เกี่ยวข้อง คือ โรคของระบบทางเดินอาหาร การอักเสบของลำไส้ โรคไต โรคตับ และอาจเกิดจากการเปลี่ยนอาหารเร็วเกินไป 

           10. การชัก โรคที่เกี่ยวข้อง คือ โรคลมชัก ( Epilepsy ) โรคมะเร็ง โรคตับ โรคไต 

           11. อาการลมหายใจเหม็นผิดปกติ โรคที่เกี่ยวข้อง คือ โรคฟัน โรคมะเร็งในช่องปาก โรคไต 

           12. อาการขาเจ็บ โรคที่เกี่ยวข้อง คือ การลุกลำบาก การเดินผิดปกติ ข้ออักเสบ ความอ้วน เบาหวาน 

           13. การกลั้นปัสสาวะไม่ได้หรือการถ่ายเรี่ยราด โรคที่เกี่ยวข้อง คือ การเป็นเนื่องจากข้ออักเสบ การอักเสบของลำไส้ Bladder stones โรคมะเร็ง 

           14. อาการบวมและการกระแทก โรคที่เกี่ยวข้อง คือ โรคมะเร็งและเนื้องอกต่างๆ 

           15. การเปลี่ยนความอยากของอาหาร โรคที่เกี่ยวข้อง คือ โรคเบาหวาน โรคมะเร็ง โรคตับ โรคไต ความเครียดและความเจ็บปวดต่างๆ อาจเกิดจากฤทธิ์ของยา โรคปากและฟัน Hyperthyroidism และ Hepatic lipidosis 

ขอขอบคุณข้อมูลจาก

https://pet.kapook.com/view3787.html
เครดิตภาพ  https://www.pinterest.com/pin/411868328435504156/