Friday, January 27, 2023

10 ของต้องห้าม สำหรับเจ้าเหมียว


เรียบเรียงข้อมูลโดยกระปุกดอทคอม


เคยได้ยินมาว่า สุนัข ห้ามกินช็อกโกแลต เด็ดขาด เพราะอาจอันตรายถึงแก่ชีวิต นอกจากนี้ยังมีของต้องห้ามอีกมากมายสำหรับเจ้าตูบที่เราเคยนำเสนอกันไปแล้ว ดังนั้น วันนี้จึงขอเอาใจคนรักแมว นำของต้องห้ามสำหรับเจ้าเหมียวมาฝากกัน...มาดูกันเลยว่า มีอะไรบ้าง


           1. แอลกอฮออล์ เพราะเป็นพิษแม้กระทั่งปริมาณเล็กน้อย


           2. คาเฟอีน อย่าให้แมวเข้าถึง ไม่ว่าจะเป็นน้ำอัดลม กาแฟ และชา


           3. ช็อกโกแลต ยิ่งถ้าเป็นช็อกโกแลตบริสุทธิ์มากเท่าไหร่ ยิ่งทำอันตรายกับแมวมากเท่านั้น


           4. ลิลลี่ ถือว่าเป็นพิษร้ายแรง หากแมวเผลอกินเข้าไป มันอาจจะกระตุ้นให้เกิดอาการไตวาย และเสียชีวิตได้


           5. ถั่วแมคคาเดเมีย นอกจะอันตรายกับน้องหมา ก็ยังทำให้เกิดภาวะไข้สูงในแมวได้ และทำให้เกิดเนื้องอก อาการข้อแข็ง


           6. ลูกเหม็น อาจสร้างความเสียหายให้กับตับและเป็นอันตรายถึงชีวิต


           7. เหรียญกษาปณ์ เนื่องจากมีส่วนผสมของสังกะสีในปริมาณมาก มันจึงอันตรายร้ายแรง หากแมวเผลอกลืนเข้าไป


           8. น้ำมันสน นำไปสู่ความผิดปกติหลากหลาย ตั้งแต่อาการปวดท้องไปจนถึงความเสียหายของอวัยวะภายใน


           9. น้ำมันหอมระเหย ถ้าแมวทานเข้าไป อาจสร้างความเสียหายให้กับอวัยวะภายใน แต่หากสัมผัสโนแค่ภายนอก อาจทำให้ผิวหนังของแมวระคายเคือง


           10. บุหรี่ นิโคตินในบุหรี่จะโจมตีระบบประสาทและระบบขับถ่ายของแมว และอาจทำให้อัตราการเต้นของหัวใจพุ่งสูงอย่างรวดเร็วจนนำไปสู่อาการช็อก และเสียชีวิตในที่สุด นอกจากนั้นผลการศึกษายังระบุด้วยว่า ถ้าได้รับการสูดดมเป็นประจำ แมวจะมีโอกาสเป็นมะเร็งถึง 2 เท่า


           รู้อย่างนี้แล้ว...คนรักเหมียวก็อย่าลืมนำของต้องห้ามทั้ง 10 อย่าง ออกห่างน้องเหมียวสุดที่เลิฟกันด้วยนะจ๊ะ เพื่อที่เขาจะได้อยู่กับเราไปนาน ๆ

https://pet.kapook.com/view15966.html
cr. pic.
https://www.pinterest.com/pin/819795938433629510/

Sunday, January 22, 2023

ไข้หัดแมว โรคอันตรายในเหมียว รู้ไว้ก่อนช่วยป้องกันได้



ทำความรู้จัก โรคไข้หัดแมว โรคอันตรายสำหรับแมว ถ้าไม่อยากให้เหมียวป่วย มาดูข้อมูลเกี่ยวกับไข้หัดแมว ทั้งสาเหตุ อาการ วิธีการรักษา และวิธีป้องกันให้ห่างจากโรคนี้กัน 


ช่วงนี้ทาสแมวหลายคนอดเป็นห่วงเหมียวไม่ได้ หลังมีข่าวการระบาดของโรคไข้หัดแมวในหลายพื้นที่ วันนี้กระปุกดอทคอมเลยรวบรวมข้อมูลโรคหัดแมวมาฝาก ไว้เป็นข้อมูลเบื้องต้นสำหรับดูแลและสังเกตอาการเหมียวที่บ้าน เพื่อป้องกันไม่ให้เหมียวป่วย หรือหากเป็นแล้วก็สามารถช่วยได้ทันท่วงที หากสงสัยว่าโรคไข้หัดแมว คืออะไร เกิดขึ้นได้อย่างไร แมวป่วยมีอาการแบบไหน จะต้องดูแลยังไง แล้วเราจะมีวิธีป้องกันไม่ให้เกิดโรคนี้ได้อย่างไรบ้าง ก็ตามไปดูพร้อม ๆ กันเลยค่ะ 


โรคไข้หัดแมว เกิดจากอะไร


          โรคไข้หัดแมว (Feline Distemper) หรือเรียกอีกชื่อหนึ่งว่า โรคลำไส้อักเสบในแมว (Feline Parvovirus Enteritis) เกิดจากเชื้อไวรัสกลุ่มพาร์โวไวรัส (Feline Parvovirus) เป็นโรคที่ส่งผลต่อระบบทางเดินอาหาร และติดต่อได้ผ่านสารคัดหลั่ง เช่น น้ำลาย น้ำมูก อุจจาระ ปัสสาวะ และสามารถพบได้ในสัตว์ตระกูลเดียวกัน ไม่ว่าจะเป็นเสือ สิงโต แมวป่า รวมถึงสัตว์อื่น ๆ อย่าง สกังก์ เฟอร์เรต มิงค์ และแร็กคูน 


อาการของโรคไข้หัดแมว


          โรคไข้หัดแมวมีระยะฟักตัวประมาณ 2-7 วัน อาการที่สังเกตได้คือ มีไข้สูง ซึม เบื่ออาหาร อาเจียน ท้องเสีย ร่างกายขาดน้ำ อ่อนเพลีย อึมีกลิ่นคาวปนเลือด หากรุนแรงก็ตายเฉียพลัน ทั้งนี้ แมวป่วยส่วนมากมักไม่ค่อยแสดงอาการผิดปกติ ยกเว้นลูกแมวที่ไม่เคยฉีดวัคซีนป้องกันโรคมาก่อน จะแสดงอาการชัดเจน โดยพบอัตราการตายสูงในลูกแมวที่มีอายุระหว่าง 3-5 เดือน และพบการตายเฉียบพลันในลูกแมวที่มีอายุตั้งแต่ 4 สัปดาห์ ถึง 1 ปี สำหรับแมวโตเมื่อเกิดการติดเชื้อระยะหนึ่งแล้ว ร่างกายจะสร้างภูมิคุ้มกันเองได้ และอาการของแมวจะดีขึ้น แต่แมวกลุ่มนี้ก็สามารถแพร่เชื้อผ่านอุจจาระได้หลายสัปดาห์ 


          อย่างไรก็ตาม หากพบอาการข้างต้นที่กล่าวมา ควรพาแมวไปพบสัตวแพทย์ทันที เพราะไข้หัดแมว ถือเป็นโรคติดต่อร้ายแรง โดยเฉพาะแมวที่มีอาการอาเจียน ท้องเสีย และไม่กินอาหาร เพราะจะทำให้ร่างกายอ่อนเพลีย และช็อกได้ 


ไข้หัดแมว กับ ไข้หวัดแมว ต่างกันอย่างไร 


          ทั้ง 2 โรคนี้แตกต่างกันหลาย ๆ ด้าน ทั้งเชื้อโรคและอาการ เพราะไข้หวัดแมว (Feline Upper Respiratory Infection) เกิดได้จากไวรัสหลายชนิดคือ Feline Viral Rhinotracheitis, Feline Calicivirus, Chlamydiosis, Feline Mycoplasmal infection และ Bordetella infection ติดต่อได้จากการสัมผัสแมวป่วย ผ่านสารคัดหลั่ง และเชื้อโรคที่ปนเปื้อนในอากาศ ระบาดได้ง่ายหากมีการเลี้ยงแมวหนาแน่น อาการจะค่อนข้างรุนแรงในแมวเด็กและแมวสูงอายุ เบื้องต้นสามารสังเกตความผิดปกติได้ในแมวที่มีอาการไอ จาม มีน้ำมูก มีน้ำตามาก รวมถึงมีแผลในช่องปาก หากรุนแรงจะพบอาการแทรกซ้อน เช่น ปอดอักเสบและอาจทำให้แมวตายได้ 


การรักษาโรคไข้หัดแมว 


          ขั้นแรกสัตวแพทย์จะทำการตรวจร่างกายและตรวจหาไวรัส รวมถึงประวัติการฉีดวัคซีนย้อนหลังของแมว จากนั้นจะรักษาตามอาการ เพื่อประคองให้ร่างกายสามารถสร้างภูมิคุ้มกันขึ้นมาเอง เช่น งดการให้น้ำและอาหารในช่วงแรก เพื่อลดการทำงานของลำไส้และลดการอาเจียน แล้วให้สารน้ำ (Fluid Therapy) ผ่านทางเส้นเลือดแทน ร่วมกับรักษาด้วยยาตัวอื่น เช่น ยาลดอาเจียน และยาปฏิชีวนะเพื่อความเสี่ยงการเกิดโรคแทรกซ้อนที่เกิดจากเชื้อแบคทีเรีย การรักษาใช้เวลาประมาณ 7-14 วัน เมื่อแมวมีอาการดีขึ้นจึงจะเปลี่ยนมาให้อาหารอ่อน ๆ 


วิธีป้องกันก่อนเป็นโรคไข้หัดแมว 


          เนื่องจากไข้หัดแมวเป็นโรคติดต่อ ที่สามารถเกิดกับแมวได้ทุกวัย ดังนั้นหากเป็นแมวป่วยควรแยกเลี้ยงออกจากแมวตัวอื่น ๆ และหมั่นทำความสะอาดข้าวของเครื่องใช้รวมถึงบริเวณที่พักอาศัยให้สะอาด ด้วยน้ำยาฆ่าเชื้อโรค หรือน้ำยาที่มีส่วนผสมของสารโซเดียมไฮโปคลอไรด์ เช่น น้ำยาฟอกขาวผสมน้ำในอัตรา 1:32 ส่วน


          แต่อย่างไรก็ตามทางที่ดีควรให้วัคซีนตามที่สัตวแพทย์แนะนำ โดยควรเริ่มให้วัคซีนเมื่อลูกแมวมีอายุ 8-9 สัปดาห์ และให้ซ้ำอย่างน้อย 2 ครั้ง แต่ละครั้งห่างกันประมาณ 4 สัปดาห์ และฉีดวัคซีนซ้ำเป็นประจำทุกปี สำหรับแมวที่ยังไม่ได้รับวัคซีน ควรงดพาแมวออกนอกบ้าน เพื่อป้องกันการติดเชื้อ 


          โรคไข้หัดแมว เป็นโรคติดต่ออันตราย โดยเฉพาะลูกแมวอายุ 3-5 เดือน แต่ก็เป็นโรคร้ายแรงที่สามารถป้องกันได้ โดยการฉีดวัคซีนให้ครบตามโปรแกรมที่สัตวแพทย์แนะนำ แต่ในช่วงที่มีการระบาดหนักแบบนี้เจ้าของก็ควรหมั่นสังเกตพฤติกรรมของแมวเอาไว้ เพราะเป็นโรคที่เกิดขึ้นได้กับแมวทุกช่วงวัย หากเห็นความผิดปกติก็ควรพาไปพบสัตวแพทย์ทันที เพื่อรักษาได้ทันท่วงที ให้น้องแมวอยู่กับเราไปนาน ๆ 


ขอบคุณข้อมูลจาก คณะสัตวแพทยศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย, คณะสัตวแพทยศาสตร์ มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ และโรงพยาบาลสัตวเมืองเอก 

https://pet.kapook.com/view12022.html

cr. pic. https://www.pinterest.com/pin/623748617120504163/