Monday, November 23, 2020

9 วิธีตามหาแมวหาย เมื่อเจ้าเหมียวจอมซนแอบทาสหนีเที่ยว


 แมวหายทำไงดี ? เช็ก 10 วิธีตามหาแมวหาย เคล็ดลับช่วยให้ทาสเตรียมตัวรับมือได้อย่างมีระบบ และออกตามหาแมวที่หายไปให้เจอง่ายมากขึ้น

ไม่ว่าแมวจะเป็นสัตว์เลี้ยงในบ้านที่มีหน้าตาน่ารักน่าเอ็นดูสักเพียงไหน แต่ด้วยสัญชาตญาณนักล่าในตัว ก็ทำให้พวกมันชอบออกไปใช้ชีวิตนอกบ้าน หรือมักจะหนีออกจากบ้านเป็นประจำ จนทำให้เกิดปัญหาแมวหายอยู่บ่อยครั้ง ซึ่งนั่นก็ทำให้ทาสแมวรู้สึกเป็นกังวลมาก ฉะนั้นวันนี้กระปุกดอทคอมเลยขออาสานำสิ่งที่ต้องทำเมื่อแมวหายออกจากบ้านมาฝากกัน รับรองช่วยเพิ่มประสิทธิภาพในการตามหาแมวให้ดีขึ้นได้ ว่าแต่จะมีอะไรบ้าง อย่ามัวรอช้า ตามมาดูกันดีกว่าค่ะ

1. ออกตามหาพร้อมกับกลิ่นที่คุ้นเคย

          หากกลับมาบ้านแล้วไม่พบแมวเหมือนทุกครั้ง สิ่งแรกที่ต้องทำ คือ ค้นทุกซอกทุกมุมของบ้านอย่างละเอียดทั้งบนชั้น ในตู้ ใต้เตียง และซอกหลืบต่าง ๆ พยายามมองหาให้ครอบคลุมทุกตารางนิ้ว ถ้าไม่พบจริง ๆ ค่อยสวมเสื้อตัวเก่าหรือรองเท้าคู่เก่าแล้วออกไปสำรวจนอกบ้าน พร้อมกับเปิดกระป๋องอาหารหรือขนมและเขย่าเบา ๆ ไปด้วย วิธีนี้จะช่วยให้แมวได้กลิ่นของเจ้าของ และทำให้แมวได้ยินเสียงของกิน จนกลับมาหาเจ้าของได้ถูกและง่ายขึ้น

          ไม่ใช่แค่นั้น แต่เคล็ดลับสำคัญอีกอย่างในการตามหาแมว คือ ให้ลองคิดเหมือนแมว ถ้าเราเป็นมันจะไปหลบตรงไหน ปกติชอบไปอยู่ตรงไหน ที่สำคัญอย่าโวยวาย เพราะจะทำให้แมวสัมผัสได้จนตัดสินใจซ่อนตัวหรือหนีเตลิดไปในที่สุด พยายามเรียกหาด้วยเสียงปกติ หรือเสียงอ่อนโยน อย่างไรก็ตาม หากเดินหาจนทั่วแล้วยังไม่พบ ให้กลับมาบ้านและนำเสื้อแขวนไว้ด้านหน้า ถอดรองเท้าไว้นอกประตู เพื่อให้ลมพัดกลิ่นโชยไปจนถึงแมว ช่วยให้แมวหาทางกลับบ้านได้ถูกและง่ายขึ้นนั่นเอง

2. เลือกเวลาให้เหมาะสม

          หลังกลับมาจากการตามหาแมวรอบแรกแล้ว ให้พักผ่อนและรอเวลาที่เหมาะสมก่อนจะออกตามหาอีกครั้งในช่วงค่ำ ๆ เพราะบรรยากาศโดยรวมจะเงียบ ช่วยให้เสียงเรียกดังขึ้น ทำให้แมวได้ยินดีมากขึ้น ส่วนวิธีการตามหาก็เหมือนเดิม เรียกชื่อแมวในน้ำเสียงนุ่มนวล พร้อมกับเขย่ากระป๋องอาหาร หรือไม่ก็เปิดอาหารให้กลิ่นโชยไปด้วย โดยเจ้าของบางคนอาจจะอัดเสียงเปิดกระป๋องไว้ แล้วใช้เล่นซ้ำเพื่อช่วยเรียกความสนใจไปเรื่อย ๆ ซึ่งถ้าหากแมวอยู่ในละแวกที่ตามหาจริง ๆ ทำแบบนี้ไม่นานแมวก็จะปรากฏตัวแล้วค่ะ

3. ทำเซฟโซนเผื่อแมวกลับบ้าน

          อีกหนึ่งสิ่งที่ควรทำระหว่างรอให้แมวกลับบ้านหลังจากมันหายตัวไป คือ นำกล่องลังหรือกล่องกระดาษขนาดใหญ่เจาะรูด้านข้างให้แมวพอเข้าไปได้ จากนั้นก็กลับด้านปากกล่องลงข้างล่าง แล้วเอาไปวางไว้หน้าบ้าน พร้อมใส่ที่นอนนุ่ม ๆ เข้าไปข้างใน หาน้ำ หาอาหารมาวางไว้ใกล้ ๆ เพื่อให้เป็นที่เซฟโซนเมื่อแมวกลับมา นอกจากนี้ก่อนจะเข้าไปนอน หรือเข้าไปพักผ่อน ก็อย่าลืมเรียกแมวอีกสักครั้ง และถ้าเป็นไปได้ให้หันกล้องวงจรปิดมาบริเวณนี้เผื่อช่วยสอดส่องด้วยก็จะดีมาก

4. สอบถามกับคนใกล้ตัว

          นอกจากจะตามหาแมวด้วยตัวเองแล้ว บางครั้งมันก็ดีกว่าที่จะสอบถามเพื่อนบ้านหรือคนแถวบ้าน เพื่อกระจายความทั่วถึง และให้พวกเขาช่วยกันสอดส่อง โดยนำรูปติดตัวไปด้วยระหว่างออกค้นหา จากนั้นก็พูดคุยและเอาให้ดูทั้งผู้ใหญ่และเด็ก โดยเฉพาะอย่างยิ่งเด็กผู้หญิง เนื่องจากส่วนใหญ่จะมีเปอร์เซ็นต์ช่วยตามหาแมวได้สำเร็จมากกว่า

          ไม่ใช่แค่นั้น แต่ถ้าเป็นเพื่อนบ้านใกล้กันจริง ๆ สนิทกันมาก ๆ หรือมองดูแล้วมีโอกาสที่แมวจะเข้าไปหลบ อย่าลืมขอเข้าไปในบ้านพวกเขาเพื่อตรวจสอบตามโรงจอดรถ ระเบียง ซอกหลืบ และส่วนต่าง ๆ หรือไม่ก็ให้เขาช่วยค้นหาดูให้อีกที เพื่อไม่ให้เล็ดลอดสายตาไป

5. ติดป้ายประกาศหรือใบปลิว

          สิ่งสำคัญไม่แพ้การออกตามหาก็คือการทำป้ายประกาศหรือใบปลิว โดยป้ายที่ดีไม่จำเป็นต้องสวยงาม แต่ต้องมีข้อมูลครบถ้วน เน้นคำว่าแมวหายตัวใหญ่ ๆ ให้คนที่ผ่านไปผ่านมามองเห็นสะดุดตา มีรูปแมวของตัวเองประกอบ ควรเป็นรูปสีที่เห็นจุดเด่นชัดเจน มีชื่อแมว มีคำอธิบายรายละเอียด เช่น สี พันธุ์ ลักษณะ พบครั้งสุดท้ายที่ไหน จากนั้นก็ใส่เบอร์โทร. หรือช่องทางโซเชียลให้ติดต่อกลับลงไป หลีกเลี่ยงการบอกชื่อจริงและที่อยู่ แต่สามารถบอกว่ามีรางวัลให้ได้ ทว่าไม่ควรระบุว่าเท่าไรเพื่อความปลอดภัย และถ้าจะให้ดีควรทำข้อมูลติดต่อเป็นช่องเล็ก ๆ ที่ท้ายกระดาษ เพื่อให้คนสามารถฉีกติดตัวไปได้ง่าย ๆ พร้อมทั้งใช้กระดาษที่ทนน้ำด้วย

          เมื่อทำป้ายหรือใบปลิวเสร็จเรียบร้อย ก็นำไปติดไว้ตามสถานที่ต่าง ๆ เช่น เสาสี่แยก ริมถนน ตู้โทรศัพท์ กระดาoข่าวในชุมชน ร้านขายของชำ ร้านซักอบรีด ร้านอาหารสัตว์ ห้องสมุด โรงพยาบาลสัตว์ ศูนย์รวมของชุมชน หรือทุกที่ที่สามารทำได้ โดยให้ติดในระดับสายตา หรือแจกให้คนที่ผ่านไปผ่านมาได้ดู หลังจากนั้นก็หมั่นตรวจสอบทุกวันว่าป้ายยังอยู่ครบ ซึ่งเวลาไปตรวจสอบก็อย่าลืมนำป้ายใหม่ไปเผื่อชดเชยอันเก่าที่อาจจะหายไปด้วยนะคะ

6. โพสต์ลงโซเชียลมีเดีย

          ไม่ใช่แค่ติดป้ายประกาศในละแวกใกล้เคียงเท่านั้น แต่ควรโพสต์โซเชียลมีเดียต่าง ๆ เช่น เฟซบุ๊ก ทวิตเตอร์ หรือวิทยุชุมชนด้วย โดยให้เน้นตามกลุ่มทาสแมว หรือกลุ่มเขตที่ตนอาศัยอยู่ เพื่อเพิ่มโอกาสในการมองเห็น เปิดโอกาสในการแชร์สู่วงกว้าง และถือเป็นการกระจายข่าวที่ง่ายและเร็วที่สุด อ้อ อย่าลืมบอกให้เพื่อน ๆ หรือคนรู้จักช่วยกันแชร์ด้วยล่ะ

7. ตั้งรับตามโพสต์เจอแมว

          เคล็ดลับที่น่าสนใจอีกอย่างก็คือ อย่ามัวเป็นฝ่ายตามหาด้วยการออกนอกบ้านทุกวัน ติดป้ายประกาศตามที่สาธารณะ หรือโพสต์ในโซเชียลมีเดียอย่างเดียว ต้องเป็นฝ่ายตั้งรับ คอยมองหาโพสต์ที่บอกว่าเจอแมว โพสต์ที่บอกว่ามีแมวหลงมา หรือแฮชแท็กที่คิดว่าจะทำให้ตามหาได้ง่ายขึ้นด้วย 

8. อยู่ในจุดที่แมวสัมผัสได้

          พยายามออกมานั่งเล่นหรือใช้เวลานอกบ้านบ่อย ๆ พร้อมทั้งพูดคุยในระดับเสียงนุ่มนวลที่ดังพอสมควร เผื่อว่าแมวหลงอยู่ใกล้ ๆ จะบังเอิญได้ยิน จำได้ และหาทางกลับมาถูกในที่สุด หรือถ้าหากใครเลี้ยงสุนัขอยู่ด้วย ขอแนะนำให้พาสุนัขไปเดินเล่นในบริเวณใกล้เคียงเพื่อให้มันช่วยสอดส่องตามหาแมวไปในตัว

9. เช็กแถวบ้านเก่า

          สำหรับคนที่เพิ่งย้ายหรือเปลี่ยนบ้านใหม่ หากออกตามหาแมวบริเวณใกล้เคียงเท่าไรก็ไม่พบ อย่าลืมขยายอาณาเขตไปยังละแวกบ้านเก่าด้วย เพราะแมวบางตัวอาจจะรู้สึกชิน คิดถึง โหยหา และพยายามหนีกลับไปถิ่นเดิมได้นั่นเอง

Tip เพิ่มเติม :  

          หากลองทำทุกทางแล้วก็ยังไม่เจอแมวอยู่ดี ชาวญี่ปุ่นมีความเชื่อว่า ให้ลองไปคุยกับแมวตัวอื่นแถวบ้าน ทำนองว่า “ถ้าหากเจอแมวของฉัน ช่วยบอกให้กลับบ้านด้วยนะ” เพราะหลายคนที่ทำตามพบว่ามันได้ผล โดยมีข้อสันนิษฐานว่าเพราะแมวอ่านสัญญาณจากคน การทำแบบนี้เลยช่วยให้แมวรับรู้ได้ ซึ่งแม้จะดูเป็นวิธีที่แปลกประหลาดและไม่น่าเชื่อถือสักเท่าไร แต่ก็ง่าย ใครจะลองดูได้ไม่เสียหายนะคะ

          แม้ว่าการทำตามขั้นตอนทั้งหมดจะไม่ช่วยให้เจอแมวหรือทำให้แมวกลับบ้าน 100% แต่ก็ช่วยเพิ่มโอกาสในการพบตัว และลดโอกาสแมวหลงลงได้ อย่างไรก็ตาม ระหว่างที่รอต้องไม่เครียดเพราะนั่นจะทำให้แมวรับรู้และรู้สึกกลัว รวมถึงต้องอดทนและมีความหวังอยู่เสมอ เพราะมีหลายครั้งที่แมวหายไปนานเป็นเดือน เป็นปี แต่ก็ยังกลับบ้านมาถูก นอกเหนือจากนี้ ถ้าจะให้ดีที่สุดควรป้องกันไว้ก่อนด้วยการใส่ปลอกคอและฝังไมโครชิป เนื่องจากจะช่วยให้ตามหาตัวแมวได้ง่ายขึ้นนั่นเอง

ขอบคุณข้อมูลจาก petmd, petfinder และ bestlifepets
https://pet.kapook.com/view233804.html
เครดิตภาพ  https://www.pinterest.com/pin/23784704274743603/

Monday, November 16, 2020

ไขปัญหา โรคเยื่อบุช่องท้องอักเสบแมว (FIP) ภัยเงียบที่ทาสและเหมียวควรระวัง


ทำความรู้จัก โรคเยื่อบุช่องท้องอักเสบแมว ภัยเงียบเหมียวที่ทาสควรระวัง จากเชื้อไวรัสโคโรนา จะรู้ได้อย่างไรว่า แมว ของเราเป็นโรค FIP มาดูวิธีสังเกตอาการ การตรวจรักษา และการป้องกันโรคนี้กันเลย

แมว เป็นสัตว์เลี้ยง ที่มีความสำคัญเหมือนคนในครอบครัว และคงไม่มีใครอยากให้ข่าวร้ายเกิดขึ้นกับเจ้าเหมียวตัวเล็ก ๆ แบบนี้ แต่หลายกรณีก็ไม่อาจหลีกเลี่ยงได้ อย่างเช่น โรคเยื่อบุช่องท้องอักเสบแมว หรือ FIP โรคอันตรายจากเชื้อโคโรนาไวรัส ซึ่งวันนี้กระปุกดอทคอมก็จะพาทาสแมวไปทำความรู้จักกับโรคนี้ให้มากขึ้น ตั้งแต่สาเหตุ อาการ การตรวจ-รักษา และวิธีการป้องกัน เพื่อไม่ให้เหมียวสุดที่รักต้องล้มป่วยไป

สาเหตุการเกิดโรคเยื่อบุช่องท้องอักเสบแมว

          โรคเยื่อบุช่องท้องอักเสบแมว หรือ Feline Infectious Peritonitis (FIP) เป็นโรคที่เกิดจากเชื้อโคโรนาไวรัสที่ก่อโรคในระบบทางเดินอาหารของแมว มี 2 ลักษณะ คือ แบบมีของเหลวสะสม และแบบไม่มีของเหลวสะสม มีโอกาสติดเชื้อได้กับแมวทุกวัย แต่จะพบมากในแมวเด็ก แมวที่มีภูมิคุ้มกันต่ำ และบริเวณที่มีการเลี้ยงแมวรวมกันหนาแน่น รวมถึงความเครียดในแมวก็เป็นอีกหนึ่งสาเหตุที่ทำให้เกิดโรคนี้ได้

อาการโรคเยื่อบุช่องท้องอักเสบแมวและความรุนแรงของโรค

          อาการของโรคเยื่อบุช่องท้องอักเสบแมว (FIP) ขึ้นอยู่ลักษณะของโรค 2 ลักษณะตามที่กล่าวไปข้างต้น คือ

          แมวที่เป็นโรคเยื่อบุช่องท้องอักเสบ แบบมีของเหลวสะสม จะมีอาการซึม เบื่ออาหาร เหนื่อยง่าย ตัวร้อน เหงือกอาจมีสีขาวซีดหรือสีเหลือง น้ำหนักลง ท้องขยายคล้ายแมวท้อง เมื่อคลำดูจะมีลักษณะเป็นก้อน นอกจากนี้อาจมีอาการหายใจลำบากหรือหายใจช้าร่วมด้วย  

          แมวที่เป็นโรคเยื่อบุช่องท้องอักเสบ แบบไม่มีของเหลวสะสม หรือแบบแห้ง จะสังเกตได้ยากกว่า เนื่องจากไม่มีอาการที่แน่นอน เช่น มีไข้สูงเล็กน้อย ซึม เดินโซเซ  และเบื่ออาหาร เหงือกมีสีเหลือง และหายใจลำบาก นอกจากนี้มีอาการตากระตุกหรือชักร่วมด้วย  

          ส่วนความรุนแรงของโรคนั้นก็ขึ้นอยู่กับการตอบสนองต่อเชื้อไวรัสของแมวแต่ละตัว หากแมวที่ได้รับเชื้อโคโรนาไวรัส แต่ไม่มีการกลายพันธุ์ ก็อาจจะไม่เกิดโรค แต่สำหรับแมวที่เป็นโรค FIP และมีอาการของโรคแล้ว โดยทั่วไปพบว่าอายุขัยเฉลี่ยอยู่ที่ประมาณ 9 วัน หลังจากตรวจพบโรค

การตรวจและรักษาโรคเยื่อบุช่องท้องอักเสบแมว

          ในตอนนี้ยังไม่มีการรักษาให้หายขาด แต่จะเป็นการรักษาเพื่อประคองอาการ เช่น การให้ยาลดอักเสบประเภทสเตียรอยด์เพื่อช่วยลดการสะสมของของเหลวในอกและท้องช่วยกระตุ้นความอยากอาหาร ในกรณีที่เจ้าเหมียวมีการสะสมของเหลวในช่องอก และช่องท้องเป็นปริมาณมาก อาจทำการเจาะดูดของเหลวออก เพื่อช่วยให้เจ้าเหมียวหายใจได้สะดวกขึ้น

วิธีป้องกันโรคเยื่อบุช่องท้องอักเสบแมว

          เนื่องจากโรคเยื่อบุช่องท้องอักเสบแมวยังไม่พบกลไกการติดต่อที่ชัดเจน แต่ไวรัสสามารถติดต่อระหว่างแมวสู่แมว จากการสัมผัสสารคัดหลั่ง เช่น น้ำลายหรืออุจจาระของแมวที่เป็นโรค รวมถึงการสัมผัสกับสิ่งที่มีเชื้อไวรัสปนเปื้อนอยู่ เช่น เสื้อผ้า ของเล่น ที่นอน ดังนั้นควรป้องกันตั้งแต่ต้นเหตุ ด้วยการหลีกเลี่ยงไม่ให้แมวใช้ของใช้ร่วมกัน เช่น ไม่ให้แมวกินข้าวหรือกินน้ำจากถ้วยเดียวกัน นอกจากนี้ควรพาแมวไปรับวัคซีนและตรวจสุขภาพตามกำหนด หมั่นสังเกตความผิดปกติและแยกแมวที่มีอาการหรือได้รับการวินิจฉัยว่าเป็นโรคออกจากตัวอื่น ๆ ก็จะช่วยป้องกันภัยเงียบนี้ได้

          โรคเยื่อบุช่องท้องอักเสบแมว หรือโรค FIP เป็นอีกหนึ่งโรคอันตรายในแมวที่ไม่ควรประมาท เพราะยังไม่มีวัคซีนป้องกันโดยตรงและยังไม่มีวิธีรักษาให้หายขาด ดังนั้นผู้เลี้ยงแมวควรป้องกันตั้งแต่เนิ่น ๆ เช่น แยกของใช้ของแมวออกจากกัน หมั่นสังเกตความผิดปกติ พาไปตรวจร่างกายพร้อมให้วัคซีนเป็นประจำ และพาไปพบสัตวแพทย์เมื่อสังเกตเห็นอาการผิดปกติ เพื่อไม่ให้เชื้อโรคร้ายมาคร่าชีวิตแมวของเราไปอีกตัวนะคะ

ขอบคุณข้อมูลจาก สารสัตวแพทยสภาองค์กรพิทักษ์สัตว์แห่งโลก และ รายการสัตวแพทย์สนทนา
https://pet.kapook.com/view20740.html
เครดิตภาพ  https://www.pinterest.com/pin/381187555962596049/

Sunday, November 15, 2020

12 เรื่องน่ารู้ก่อนเลี้ยงแมว เคล็ดลับเลี้ยงสัตว์ให้แฮปปี้ทั้งทาสทั้งเหมียว


วิธีเลี้ยงแมว กับ 12 เรื่องน่ารู้ก่อนลงมือเลี้ยงเหมียว โดยครบทั้งการเลือกให้เหมาะสม การดูแลให้ถูกต้อง การป้องกันโรคล่วงหน้า และไขข้อสงสัยคาใจต่าง ๆ บอกเลยใครคิดจะเป็นทาส ต้องห้ามพลาดอย่างเด็ดขาด !

ทุกวันนี้แมวกลายเป็นสัตว์เลี้ยง ยอดนิยมอันดับต้น ๆ ไปแล้ว ด้วยหน้าตาที่น่ารักและนิสัยที่มีเสน่ห์ ก็เลยทำให้ใครต่อใครหลงรักหัวปักหัวปำได้ไม่ยาก ซึ่งถ้าหากใครเพิ่งรู้สึกอยากจะเป็นทาส อยากลองหาแมวมาเลี้ยงสักตัว แต่เริ่มต้นไม่ถูก ไม่รู้จะทำอย่างไร ต้องเตรียมตัวอะไรบ้าง มาทางนี้เลยค่ะ วันนี้กระปุกดอทคอมรวบรวมข้อมูลน่าสนใจเกี่ยวกับการเลี้ยงแมวมาฝากกันแล้ว

1. การเลือกแมวให้เหมาะกับตัวเอง

          ก่อนจะรับเจ้าเหมียวมาเลี้ยง อยากให้ลองพิจารณาก่อนว่า เราต้องการแมวลักษณะอย่างไร เพศอะไร พันธุ์ใด สีไหน จากนั้นก็เริ่มหาข้อมูลดูว่าเข้ากับไลฟ์สไตล์ของเรามั้ย เพราะบางครั้งตัวที่ชอบอาจจะเข้ากันไม่ได้ โดยมีเคล็ดลับ ดังนี้

          - แมวเด็ก VS แมวโต : แม้แมวเด็กจะน่ารักกว่าและให้ความรู้สึกเหมือนโตมาด้วยกัน แต่ต้องการการดูแลสูงมาก ต้องอยู่ด้วยเกือบตลอดเวลา ต้องคิดให้รอบคอบทุกอย่าง และต้องพาไปหาหมอเพื่อฉีดวัคซีนเป็นประจำ ฉะนั้นจึงไม่เหมาะกับคนที่ไม่ค่อยมีเวลา คนเดินทางบ่อย หรือคนไม่ค่อยถนัดเลี้ยงสัตว์สักเท่าไร ซึ่งถ้าหากใครรู้ว่าตัวเองไม่ไหว แนะนำให้หันไปเลี้ยงแมวโต หรือแมวอายุ 8 เดือนขึ้นจะดีกว่า

          - ตัวผู้ VS ตัวเมีย : ความจริงแล้วเพศไหนก็ไม่สำคัญ เพราะถ้าหากจับทำหมันตั้งแต่อายุ 4 เดือน ก็จะช่วยลดปัญหาจากฮอร์โมนลงได้ แต่ถ้าหากไม่ได้ทำหมัน ก็อาจจะมีอาการ เช่น ตัวผู้ ฉี่เรี่ยราดและส่งกลิ่นเหม็นแรงเพื่อทำอาณาเขต ส่วนตัวเมีย ก็อาจจะติดสัตว์บ่อย ๆ ทุก ๆ สองสัปดาห์

          - ขนยาว VS ขนสั้น : แมวขนยาวอาจจะดูน่ากอดกว่าแมวขนสัตว์หรือแมวไม่มีขน แต่ก็ต้องแลกมากับการดูแลที่สูงเป็นพิเศษ ฉะนั้นนอกจากความชอบและความน่ารักแล้ว ควรพิจารณาถึงเวลาว่าง ค่าใช้จ่าย และพฤติกรรมการดูแลของตัวเองด้วย

          - พันธุ์ไหนดี : สามารถเลือกได้ตามความชอบ แต่ต้องหาข้อมูลประกอบให้ดี เพราะแมวแต่ละพันธุ์มีลักษณะนิสัยและการดูแลแตกต่างกันไป เช่น บางตัวชอบอยู่ลำพัง อาจจะไม่เหมาะกับคนที่ชอบเล่น ชอบกอด บางตัวติดคน อาจจะไม่เหมาะกับคนที่ไม่ค่อยมีเวลา และบางตัวร้องบ่อย อาจจะไม่เหมาะกับคนชอบความเงียบ เป็นต้น

          ซึ่งหลังจากพิจารณาเรียบร้อยแล้ว ต่อมาก็เริ่มเสาะหาแมวมาเลี้ยงได้ โดยส่วนใหญ่มักจะหาจากเพื่อนหรือคนรู้จักก่อน เพื่อให้ได้ประวัติที่ตรงตามจริงที่สุด แต่ก็ต้องแลกมากับการดูแลแบบทั่วไป นอกจากนั้นหลายคนยังนิยมหาจากศูนย์พักพิงสัตว์ เพราะเหมือนเป็นการช่วยเหลือสัตว์โดยตรง แถมเสียค่าใช้จ่ายน้อย แต่อาจจะเลือกไม่ได้มากและต้องสัมภาษณ์จุกจิก ไม่เช่นนั้นอาจจะก็หาจากพ่อค้า-แม่ค้าที่เพาะพันธุ์ขายโดยเฉพาะเลย ข้อดีคือได้ลักษณะที่ตรงตามต้องการ ส่วนข้อเสียคือราคาแพงและควรเช็กประวัติให้ดีก่อนโดนหลอก สุดท้ายที่นิยมกันในช่วงหลัง ๆ นี้ ก็คือ แมวจรจัด หรือแมวที่หลงมาเอง เพราะบางครั้งแมวก็เป็นฝ่ายเลือกเจ้าของเหมือนกัน แต่ไม่ว่าจะหามาจากไหน สิ่งสำคัญที่สุดคือต้องอย่าลืมเช็กเรื่องสุขภาพด้วยนะคะ

2. การเลือกเลี้ยงแมวในบ้านหรือนอกบ้าน

          แมวเป็นสัตว์ที่สามารถเลี้ยงได้ทั้งในบ้านและนอกบ้าน แต่ถ้าถามว่าจะเป็นต้องพาออกไปข้างนอกเหมือนกับสุนัขมั้ย คำตอบคือไม่จำเป็น เนื่องจากสุนัขเป็นนักล่าที่เน้นการเคลื่อนไหวมากกว่า (ยกเว้นสุนัขตัวเล็ก) ต่างจากแมวที่เป็นนักล่าแบบซุ่มโจมตี อาศัยวิ่งไว ๆ ระยะสั้น ๆ ไม่ได้วิ่งนานหรือวิ่งไกล อีกทั้งยังใช้กระบะทรายในการขับถ่าย จึงพูดได้ว่าไม่จำเป็นต้องพาแมวออกข้างนอก เพื่อเป็นการลดความเสี่ยงอันตรายจากเห็บหมัด สิ่งสกปรก หรือแม้กระทั่งสัตว์ใหญ่ตัวอื่นกัด

          อย่างไรก็ตาม การพาแมวออกไปเปิดหูเปิดตาข้างนอกบางครั้งบางคราวก็ถือเป็นเรื่องที่ดีเหมือนกัน เพราะช่วยสร้างความสมดุลทางร่างกายและจิตใจให้กับแมวได้ ทว่าต้องดูแลอย่างใกล้ชิด คำนึงถึงความปลอดภัยเป็นหลัก ต้องใส่สายจูงและสายรัดทุกครั้ง และควรฝึกให้ชินตั้งแต่ยังเล็ก ส่วนสำหรับใครไม่ถนัดจูงออกไปนอกบ้าน แต่ยังอยากให้แมวได้มีชีวิตภายนอกบ้าง ก็อาจจะทำกรงให้วิ่ง ทำบันไดให้กระโดดบริเวณนอกบ้านก็ได้ แต่ต้องไม่ลืมยึดโครงสร้างให้แน่นหนา ใช้มุ้งลวดที่แข็งแรงสำหรับกลางแจ้ง และปิดหลังคาให้มิดชิดด้วย

3. ความต่างระหว่างอาหารแมวทำเองกับอาหารแมวสำเร็จรูป

          เราสามารถให้อาหารแมวได้ 2 รูปแบบใหญ่ ๆ คือ อาหารแมวทำเอง กับอาหารแมวสำเร็จรูป โดยอาหารแมวทำเอง มีข้อดี คือ เราสามารถตัดสินใจได้ว่าจะใส่อะไรลงไปในนั้น เลือกได้จากที่แมวเราชอบ เลือกได้จากที่แมวเราต้องการ ส่วนข้อเสีย คือ ร่างกายแมวมีการเปลี่ยนแปลงอยู่ตลอด หากไม่ใช่ผู้เชี่ยวชาญ หรือไม่มีความรู้ อาจจะทำให้แมวได้รับสารอาหารที่ไม่ถูกต้องและไม่เพียงพอ อีกทั้ง

          ส่วนสำหรับอาหารแมวสำเร็จรูป อาจจะเสียตรงเราเลือกไม่ได้ทุกอย่าง แต่ก็ดีตรงที่ทุกวันนี้มีหลายแบรนด์ หลายสูตร แถมคัดสรรและปรุงแต่งมาเป็นอย่างดี ให้เหมาะสมกับปริมาณที่แมวต้องการตามแต่ละช่วงวัยและสายพันธุ์ โดยอาหารแมวสำเร็จรูปที่พบเห็นบ่อยมี 2 ประเภท ได้แก่

          - อาหารเม็ด (อาหารแข็ง หรืออาหารบด) : ได้รับความนิยมมากที่สุด เพราะราคาไม่แพง ไม่มีกลิ่น เก็บไว้ได้นาน แถมช่วยให้แมวได้เคี้ยว แต่อาจจะไม่อร่อยหรือยั่วยวนใจเท่าไร

          - อาหารเปียก (อาหารเหลว) : ได้รับความนิยมรองลงมา ราคาอาจจะแพงขึ้นมาเล็กน้อย แต่กลิ่นหอม อร่อย น่ากิน และมีน้ำเป็นส่วนประกอบด้วย ทว่าหากเปิดแล้วเก็บต่อได้ไม่นาน ทำความสะอาดยาก แถมถ้าแมวกินเหลือต้องรีบทิ้ง เพราะไม่งั้นจะเป็นแหล่งเพาะพันธุ์เชื้อโรค

          อย่างไรก็ตาม ไม่ว่าจะเลือกอาหารแมวสำเร็จรูปแบบไหน ควรอ่านฉลากเพื่อเช็กคุณค่าทางสารอาหารก่อนทุกครั้ง และพยายามเลือกให้มีประโยชน์ และตรงกับร่างกายแมวของเราที่สุด

4. อาหารการกินของแมว

          นอกจากอาหารหลัก ๆ แล้ว แมวสามารถกินอะไรได้ หรือห้ามกินอะไรบ้าง มาดูกันค่ะ

          - แมวกินมังสวิรัติ

          หากถามว่าแมวกินมังสวิรัต หรือกินแต่ผักอย่างเดียวได้มั้ย คำตอบคือไม่ได้ เพราะแมวเป็นสัตว์กินเนื้อ หากไม่ได้กินเนื้อละก็ อาจจะทำให้เกิดปัญหาได้ เนื่องจากร่ายกายของแมวต้องการสารอาหารบางอย่างที่พบเฉพาะในเนื้อสัตว์เท่านั้น เช่น โปรตีน ที่ช่วยในการเจริญเติบโต ทอรีน ที่หากขาดไปสามารถทำให้ตาบอดหรือหัวใจโตไวกว่าปกติได้ และกรดอาราคิโดนิก ที่พบในเนื้อเยื่อสัตว์เท่านั้น แต่ทั้งนี้ก็ไม่ได้หมายความว่าจะต้องให้แมวเนื้อดิบแต่อย่างใด เพราะนั่นอาจจะทำให้เกิดโรคได้หลายชนิด ฉะนั้นควรสรรหาอาหารที่ทำมาเพื่อแมวโดยตรงจะดีที่สุด

          - แมวกินพืช หรือกินต้นไม้

          แมวกินพืช หรือกินต้นไม้ ไม่ใช่เรื่องผิดปกติอะไร ผู้เชี่ยวชาญกล่าวว่า บางครั้งสัตว์เลี้ยงอาจจะต้องการสารอาหารบางอย่างในนั้น หรือไม่ก็ทำไปตามสัญชาตญาณ สิ่งที่คนทำให้ได้ คือ อาจจะปลูกต้นไม้ที่แมวชอบให้โดยเฉพาะ หรือไม่ก็กั้นโซนสำหรับต้นไม้ที่ไม่อยากให้แมวเข้าไปยุ่งนั่นเอง

          - ขนมแมว

          ถ้าได้รับอาหารเพียงพอ ความจริงแล้วร่างกายแมวก็ไม่ต้องการขนมสักเท่าไร เพราะขนมแมวก็เหมือนขนมคน ทำมาเพื่อความอร่อย ไม่ได้เน้นโภชนาการ จึงมีขึ้นเพื่อให้ลิ้มรสเท่านั้น หากให้มากเกินไป อาจจะมีปัญหาเรื่องน้ำหนักและสารอาหารที่ไม่สมดุลได้

          - อาหารคน

          ความจริงแล้วอาหารคนไม่ได้มีปัญหา หรือส่งผลเสียอะไรกับแมว ยกเว้นผลิตภัณฑ์ที่ทำจากนม ถ้าหากใครอยากจะให้บ้างบางครั้งก็ได้ แต่ต้องดูเรื่องโภชนาการให้ดี เพราะส่วนใหญ่ในอาหารคนมักจะมีสารอาหารที่แมวต้องการอยู่ไม่ครบถ้วนนั่นเอง

          - น้ำ

          ร่างกายแมวต้องการน้ำประมาณ 1 ออนซ์ ต่อน้ำหนักตัว 0.45 กิโลกรัม ซึ่งแมวหลายตัวมักจะมีปัญหาเรื่องกินน้ำน้อย จนทำให้เกิดโรคตามมาได้ ดังนั้นควรพยายามให้แมวดื่มน้ำบ่อย ๆ ไม่เช่นนั้น อาจจะเสริมด้วยการให้แมวกินอาหารเปียก ที่มีน้ำเป็นส่วนผสมอยู่เยอะมากแทนก็ได้

5. การดูแลขนและเล็บแมว

          ไม่ว่าจะแมวขนสั้นหรือขนยาว ขนเยอะหรือขนน้อย ต่างก็ต้องการการดูแลขนกันทั้งนั้น สังเกตได้จากการที่พวกมันมักจะเลียขน เลียตัว เพื่อทำความสะอาดอยู่เสมอ ดังนั้นเจ้าของอย่างเราจึงต้องกันดูแลเพื่อไม่ให้ขนกระจุกรวมกันเป็นสังกะตัง เป็นก้อนขน เป็นแผล หรือหลุดร่วง จนตามมาซึ่งโรคผิวหนังหรือลำไส้อุดตัน ซึ่งบางครั้งอาจจะต้องโกนขนออก ถือเป็นเรื่องแย่สำหรับแมวมาก ๆ

          โดยอุปกรณ์ดูแลขนแมวที่สำคัญทาสควรมีติดบ้าน ได้แก่ หวีแมว, หวีสเตนเลสแปรงขนแมว, หวีกำจัดหมัดแมว และถุงมือแปรงขนแมว จากนั้นก็พยามหมั่นหวี หมั่นแปรงบ่อย ๆ ต้องใช้ความอดทนสักนิด และต้องฝึกไว้ให้ชินมือ โดยมีเคล็ดลับ คือ พยายามทำให้มันสนุกหรือเพลิน นอกจากจะหวีแล้ว ก็ต้องลูบ ต้องเกา ทำให้เหมียวมีความสุขด้วย ที่สำคัญไม่บังคับหรือไม่ทำให้อึดอัด ไม่ทำแรงมาก ไม่ทำนานเกินไป และไม่จำเป็นต้องทำเสร็จในครั้งเดียว ค่อย ๆ ทยอยทำไปเรื่อย ๆ รู้ว่าเมื่อไรแมวอารมณ์ไม่ดีแล้วก็ควรเลิก เท่านี้ก็จะช่วยให้อยู่ร่วมกันได้อย่างมีความสุขแล้ว

          และถึงแม้เราจะหวีขนแมวเองได้ แต่ก็ต้องพาไปให้ผู้เชี่ยวชาญช่วยดูแลบ้างบางครั้ง (โดยเฉพาะแมวขนยาวที่ต้องหวีบ่อยกว่าแมวขนสั้น) เพื่อให้มั่นใจว่าขนแมวเรียงสวย นุ่มฟูอย่างมีประสิทธิภาพจริง ๆ ช่วยลดปัญหาที่อาจจะตามในอนาคต และช่วยจัดการปัญหาที่เราทำไม่ได้นั่นเอง ซึ่งในระหว่างที่พาแมวไปหาผู้เชี่ยวชาญ ก็สามารถปรึกษาหรือสอบถามข้อมูลเพื่อเอามาทำที่บ้านต่อไปได้อีกด้วย

          ส่วนสำหรับการตัดเล็บแมว จริง ๆ แล้วจะใช้กรรไกรตัดเล็บของคนก็ได้ แต่ถ้าหากมีทุนมากพอ ก็ควรซื้อกรรไกรตัดเล็บแมวจะดีกว่า โดยขั้นตอน คือ อุ้มแมวนั่งในท่าที่ถนัดพร้อมจับอุ้งเท้าเบา ๆ ค่อย ๆ บีบด้านข้างให้นิ้วและเล็บยื่นออกไป จากนั้นก็ตัดปลายแหลม ๆ ส่วนใส ๆ ออก อย่าตัดให้โดนเล็บสีแดง ทำอย่างนี้ให้ครบทุกนิ้ว แล้วทำอีกข้างก็เป็นอันเสร็จ แต่โปรดจงจำไว้ว่า ไม่มีแมวตัวไหนชอบตัดเล็บ ดังนั้นอย่าลืมอดทน ใจเย็น และฝึกพวกมันตั้งแต่เด็ก นอกจากนี้อย่าลืมเล่นกับอุ้งเท้าเหมียวบ่อย ๆ เพื่อความสนุกสนานและคลายกังวลด้วย


6. การอาบน้ำแมว

          ปกติแล้วเราไม่จำเป็นต้องอาบน้ำให้แมวก็ได้ แต่ถ้าบางครั้งแมวสกปรกมากเกินไป หรือเจ้าของอยากป้องกันเห็บหมัด ก็สามารถจับมาอาบได้เหมือนกัน แต่ถ้าเป็นไปได้ก็ควรฝึกหัดไว้ก่อนตั้งแต่เด็ก ๆ โดยมีวิธีอาบน้ำแมวด้วยตัวเองที่บ้าน คือ

          ► เจ้าของควรใส่เสื้อผ้าที่ทะมัดทะแมง เปียกได้ เลอะได้ และสวมถุงมือป้องกันรอยข่วน

          ► ถ้าเป็นไปได้ควรหวีขนแมวให้เรียบร้อยก่อน รวมถึงตัดเล็บเพื่อป้องกันการข่วนร่างกายเจ้าของด้วย

          ► เตรียมอุปกรณ์ให้ครบถ้วน ทั้งแชมพูสำหรับแมว ผ้าขนหนูผืนใหญ่ หวีและแปรง

          ► เตรียมสถานที่อาบ ควรเป็นอ่างล้านหน้า อ่างล้านจาน หรือกะละมังขนาดใหญ่ ที่มาพร้อมฝักบัว ก๊อกน้ำ หรือไม่ก็สายยางในตัว

          ► เปิดน้ำใส่อ่างเอาไว้ก่อน เช็กอุณภูมิให้เหมาะสม ไม่ร้อนหรือเย็นเกินไป

          ► ลองอาบน้ำแห้งก่อนด้วยการจับบริเวณคอแมว กดลงเล็กน้อย จากนั้นก็ดูว่ามืออีกข้างสามารถขัดถูบนร่างกายแมวได้ดีแค่ไหน ควรเปลี่ยนมาจับตรงไหนให้ทั่วทั้งตัว (ถ้าเป็นไปได้ควรมีผู้ช่วยอีกคน โดยแบ่งเป็นคนหนึ่งจับแมว อีกคนหนึ่งทำความสะอาด)

          ► จับแมวลงอ่างที่ใส่น้ำไว้ ทำให้แมวเปียกไล่ตั้งแต่หัวไปจนถึงหาง แล้วก็ทาแชมพูแมวจากหัวไปหางเช่นกัน ค่อย ๆ ถูบนร่างกายเหมือนตอนอาบน้ำแห้ง

          ► ล้างออกให้สะอาดเกลี้ยงทั้งตัว

          ► นำผ้าเช็ดตัวห่อแมว แล้วซับน้ำออกจนแห้ง หากแมวทนเสียงของไดร์เป่าผมได้ ก็สามารถนำมาเป่าให้แห้งได้อย่างรวดเร็ว

          ► ถ้าแมวไม่ล้า หรือหงุดหงิดจนเกินไป สามารถหวีขนต่อให้นุ่มฟูสวยงามได้เลย

7. การทำบ้านให้ปลอดภัยสำหรับแมว

          หากคิดจะเลี้ยงแมวแล้ว ควรทำบ้านให้ปลอดภัยสำหรับแมวด้วย เนื่องจากแมวเป็นสัตว์ที่มีความอยากรู้อยากเห็นเหมือนกับเด็ก แถมยังตัวเล็กซอกซอนได้ทุกซอกทุกมุม ฉะนั้นต้องเก็บสิ่งของและระวังอันตรายให้ดี เช่น เก็บสารอันตรายให้ไกลจนแมวเข้าไม่ถึง ระวังชายผ้าม่าน มู่ลี่ เพื่อป้องกันไม่ให้แมวพันจนหลุดหรือเกี่ยวคอ เก็บสายไฟ สายโทรศัพท์ ไม่ให้แมวแอบมากัดจนเสียหายและเป็นอันตราย ทางที่ดีซ่อนไว้ใต้พรม หรือหาอะไรมาพรางไว้

          นอกเหนือจากนี้พวกน้ำยาทำความสะอาดก็ต้องเก็บให้มิดชิดเหมือนกัน บางชนิดมีกลิ่นหอม อาจล่อให้แมวอยากเข้าไปหา รวมถึงเวลาเช็ดทำความสะอาดบ้าน ทำความสะอาดพื้น ก็ต้องถูออกอีกครั้งไม่ให้สารเคมีติดค้างอยู่ได้ เพื่อป้องกันแมวเลียด้วย

          สำหรับแมวที่ออกนอกบ้าน ยิ่งต้องระวังมากเป็นพิเศษ เพราะมันอาจจะกินน้ำที่ค้างอยู่บนสิ่งสกปรก ทำให้ได้รับเชื่อโรคติดมาด้วย ไม่ก็อาจจะกินพืชมีพิษที่เราเผลอปลูกไว้ ทางที่ดี หากคิดจะเลี้ยงควรหลีกเลี่ยงการปลูก หรือหลีกเลี่ยงการพาแมวออกนอกบ้าน ให้คิดง่าย ๆ ว่า อะไรก็ตามที่เป็นพิษกับเรา ก็เป็นพิษกับแมวด้วย และมีเคล็ดลับอยู่ว่า ให้เก็บบ้านให้ปลอดภัยเหมือนกับเลี้ยงเด็กเล็กนั่นเอง

8. การเลือกของเล่นแมว

          หลักสำคัญที่สุดในการเลือกของเล่นให้แมว คือ ต้องเลือกที่ปลอดภัยและเหมาะสม หลีกเลี่ยงของเล่นชิ้นเล็ก ๆ ที่แมวจะกลืนลงไปได้ พวกไหมพรมก็เช่นกัน โดยของเล่นที่แนะนำส่วนใหญ่จะเป็นของที่แข็งแรง โยน ขว้าง แทะ ตะปบ หรือตะครุบก็ไม่เสียหาย ไม่ก็พวกของเล่นที่มีแคทนิปอยู่ข้างใน ซึ่งจะกระตุ้นให้แมวอยากเล่น แต่ต้องระวังแมวจะพยายามกัด หรือพยายามแทะด้วย นอกจากนี้พวกของเล่นที่ดุ๊กดิ๊กแค่บางส่วน เช่น หนูหางดิ้น ลูกบอลมีกระดิ่ง ก็น่าสนใจไม่แพ้กัน แต่ถ้าจะให้ดีที่สุด คือ เจ้าของต้องเล่นด้วย หาทางให้มันวิ่ง กระโดด หรือกระโจน แค่เพียงมีลูกปิงปองแล้วโยนเล่นสักหน่อย เหมียวก็พร้อมจะสนุกแล้ว

9. การพาแมวไปหาหมอและฉีดวัคซีน


          สุดท้ายเป็นสิ่งที่สำคัญที่สุดในการเลี้ยงแมว คือ หาคลินิกที่ใกล้บ้านที่เชื่อถือได้ อาจจะขับรถดูในละแวกใกล้เคียง ค้นหาจากอินเตอร์เน็ต หรือสอบถามเพื่อบ้าน เพื่อนสนิท ทาสแมวคนอื่นก็ได้ จากนั้นก็ลองเข้าไปพูดคุยปรึกษาเบื้องต้น เช่น กฏกติกาเป็นอย่างไร เปิด-ปิดกี่โมง มีเจ้าหน้าที่มากน้อยแค่ไหน พนักงานใส่ใจมั้ย ราคาเท่าไหร่ เบื้องต้นควรฉีดวัคซีนหรือดูแลอะไรบ้าง เมื่อพูดคุยกันลงตัวแล้วก็ค่อยพาแมวมาดูแล ตรวจสุขภาพ และฉีควันซีนตามสมควร ซึ่งต้องบอกเลยว่าวัคซีนเป็นสิ่งจำเป็นมาก แม้จะรักษาโรคไม่ได้ แต่ป้องกันได้ โดยอย่างน้อย ๆ ต้องได้รับวัคซีนป้องกันไข้หวัด หวัดแมว วัคซีนป้องกันพิษสุนัขบ้า วัคซีนป้องกันลูคิเมีย และวัคซีนป้องกันเอดส์ เป็นต้น

10. เลี้ยงแมวพร้อมเลี้ยงเด็กได้มั้ย

          หลายคนอาจสงสัยว่าเลี้ยงแมวกับทารก หรือเด็กเล็กได้มั้ย คำตอบ คือ ได้แน่นอน ทว่าผู้ปกครองต้องเป็นคนสอนลูกตั้งแต่เริ่มต้น แนะนำวิธีเข้าใกล้ วิธีรับมือ และวิธีปฏิบัติต่อสัตว์อย่างอ่อนโยน ซึ่งนี่ก็จะทำให้พวกเขาติดนิสัย มีความสัมพันธ์ที่ดีกับสัตว์ และรู้จักเคารพสิ่งมีชีวิตอื่นต่อไปในอนาคตด้วย นอกเหนือจากนี้หากเลี้ยงแมวแล้วเกิดตั้งครรภ์ ไม่จำเป็นต้องหาบ้านใหม่ให้แมว หรือย้ายไปเลี้ยงที่อื่นแต่อย่างใด เพราะแค่รักษาความสะอาดและสุขอนามัยพื้นฐาน ก็สามารถอยู่รวมกันได้อย่างปลอดภัยแล้ว

11. เลี้ยงแมวกับสุนัขได้หรือเปล่า

          หากเลี้ยงสุนัขอยู่แล้ว อยากจะเลี้ยงแมวทีหลัง ก็สามารถทำได้เช่นกัน แต่ว่าต้องไม่ลืมที่จะแนะนำให้สุนัขกับแมวคุ้นเคยกันด้วย ใส่ใจดูแลและระมัดระวังในช่วงแรก ๆ ให้ดี เพื่อป้องกันไม่ให้แมวถูกไล่ล่า หรือเล่นแรงจนได้รับบาดเจ็บได้ อย่างไรก็ตาม ไม่ใช่สุนัขทุกตัวที่จะเข้าหรือเป็นเพื่อนกับแมวได้ ถ้าพบว่าทั้งสองดูไม่ลงรอยกัน แนะนำว่าให้เลี้ยงแยกจะดีที่สุด ทว่าอย่าลืมให้ความใส่ใจอย่างเท่าเทียมด้วยล่ะ

12. วิธีรับมือเมื่อไม่อยู่บ้านนานหลายวัน

          หากทาสจะไม่อยู่บ้านหลายวัน สิ่งที่ควรทำ คือ ต้องหาคนมาช่วยดูแลแมว ถ้า 2-3 วัน ก็อาจจะให้คนมาช่วยให้ข้าว ให้น้ำสักแป๊บนึงได้ แต่ถ้านานกว่านั้น ควรทำไปฝากไว้บ้านญาติที่คุ้นชิน หรือเคยเลี้ยงแมว ไม่ก็นำไปฝากเลี้ยงที่โรงแรมแมวจะดีที่สุด แต่ถ้าเป็นไปได้ควรให้แมวอยู่บ้าน และมีคนอื่น เช่น พ่อ แม่ พี่ น้อง เข้ามาช่วยดูแลจะดีกว่า เพราะแมวบางตัวอาจจะไม่ผ่อนคลายเมื่ออยู่แปลกที่ หรืออยู่กับคนแปลกหน้าได้

          แม้ว่าจะต้องเตรียมตัว เตรียมข้อมูลสักหน่อย แต่ความจริงแล้วการเลี้ยงแมวไม่ยากอย่างที่คิด แนะนำให้ลองหามาเลี้ยงดูสักตัว แล้วจะแฮปปี้แน่นอน !!

ขอบคุณข้อมูลจาก animals.howstuffworks และ icatcare

https://pet.kapook.com/view233449.html

เครดิตภาพ  https://www.pinterest.com/pin/33003009761999662/