Thursday, August 24, 2023

ไททัน & เดอิ ต่างพ่อต่างแม่ แต่สองเหมียวก็รักกัน


พี่ทันทันนั้นเป็นเหมียวเมนคูนเสี้ยวเปอร์เซีย ส่วนน้องเดอินั้นเป็นเหมียวเมนคูนแท้…. 


แม้จะเป็นพี่น้องต่างพ่อต่างแม่ แต่สองเหมียวก็รักกัน ไม่เคยที่จะต่อสู้กันเลย แค่เล่นหยอกล้อกันเบาๆ ตามประสาเหมียวๆ น่ารักเป็นที่ซู๊ดดดด….




จริงๆ แล้ว พี่ไททันนั้นซึ่งเป็นเหมียวผู้ชาย อายุเท่ากับพ่อของน้องเดอิเลย จะให้น้องเหมียวเดอิเรียกว่าลุงก็ได้น๊ะ




ตอนนี้….น้องเหมียวเดอิตัวยาวกว่าพี่ไททันแล้วววว แต่มีรูปร่างเพรียวเป็นนางแบบเลย ส่วนพี่ไททันนั้น หลังทำหมันก็เอาแต่หม่ำกับนอน เลยรูปร่างใหญ่มากกกก หนักเกือบ 10 โลแว้ววว




เห็นเจ้าสองเหมียว ไททัน & เดอิ รักกัน เราก็สุขใจสุดๆ ไปเล้ย….





Sunday, August 6, 2023

พิษจากยาต่อสุนัขและแมว


พิษจากยา NSAIDs ต่อสุนัขและแมว  (Dogazine)


Dog Care เรื่องโดย หอมเพนกวิน

                เวลาที่เจ้าตูบตัวร้อน มีไข้ เรามักจะเป็นกังวล แต่ว่าบางทีอาจยังไม่มีเวลาพาเจ้าตูบไปพบสัตวแพทย์ บางครั้งจึงป้อนยาพาราเซตามอลที่ใช้ลดไข้ในคนให้กับเจ้าตูบ ซึ่งเป็นสาเหตุหลักที่ทำให้เกิดพิษจากพาราเซตามอลกับเจ้าตูบ ด้วยความรู้เท่าไม่ถึงการณ์ของเรานั่นเอง สาเหตุของการเกิดพิษที่พบได้บ่อย ๆ ในสัตว์ทั่ว ๆ ไป มีทั้งจากธรรมชาติ และจากการกระทำด้วยน้ำมือของเราเอง สารจากธรรมชาติ ได้แก่ สารพิษจากเชื้อรา พืชมีพิษ พิษจากสัตว์ เช่น งู คางคก ผึ้ง ต่อ แตน ฯลฯ ส่วนพิษที่เกิดจากการกระทำของเราเอง ได้แก่ ของเสียจากโรงงานอุตสาหกรรม สารเคมี สารกำจัดศัตรูพืชและแมลง รวมทั้งยา

                สาเหตุของการเกิดพิษที่พบได้บ่อยในสุนัขและแมว เกิดได้จากทั้ง 2 แหล่งที่กล่าวมาข้างต้น ซึ่งเราจะเน้นไปที่ยากลุ่มที่ใช้มากในการรักษาภาวะข้ออักเสบลดปวด ลดไข้ในคน ซึ่งทำให้เกิดพิษสูงในสัตว์ เรียกยากลุ่มนี้ว่า "ยาต้านการอักเสบชนิดไม่ใช่สเตียรอยด์" (Non-Steroidal Anti-Inflammatory Drugs’ NSAIDs) ที่รู้จักกันดี เช่น แอสไพริน และพาราเซตามอล

                เจ้าตูบที่ได้รับสารพิษ มักถูกพามาพบสัตวแพทย์เป็นกรณีฉุกเฉิน เพราะฉะนั้น การแก้ไขจึงมุ่งไปที่การช่วยให้เจ้าตูบมีชีวิตรอดและการแก้ไขตามอาการรวมทั้งการให้ยา เพื่อลดการดูดซึมของสารพิษนั้น ๆ ด้วย ดังนั้นการซักประวัติจากเจ้าของจึงมีความจำเป็นมาก หลักฐานจากเจ้าของและอาการของเจ้าตูบ จะเป็นสิ่งบ่งชี้ได้ในระดับหนึ่งว่าเป็นสารพิษชนิดใด

                พาราเซตามอล หรือ อะเซตามิโนเฟน เป็นยาลดปวดลดไข้ คล้ายกับแอสไพริน แต่มีคุณสมบัติลดการอักเสบได้น้อยและไม่ทำลายเยื่อบุกระเพาะอาหาร มีความปลอดภัยในคน แต่สามารถทำให้เกิดความเป็นพิษในสัตว์ โดยเฉพาะสุนัขและแมว ยามีหลายรูปแบบได้แก่ยากินชนิดเม็ด ยาน้ำเชื่อม และยาฉีด ขนาดของพาราเซตามอลเพื่อลดปวดลดไข้ในสุนัข คือ ขนาด 10 มิลลิกรัมต่อกิโลกรัม ให้กินทุก 12 ชั่วโมง ในสุนัขจะเกิดความเป็นพิษเมื่อได้รับขนาด 200 มิลลิกรัมต่อกิโลกรัมขึ้นไป ทว่าไม่มีขนาดที่ปลอดภัยในแมว เพราะแมวจะไวต่อความเป็นพิษของพาราเซตามอลมาก โดยอาจพบความเป็นพิษ เมื่อให้กินในขนาด 50-100 มิลลิกรัมต่อกิโลกรัม หรือบางกรณีอาจต่ำถึง 10 มิลลิกรัมต่อกิโลกรัม

                เมื่อสุนัขได้รับพาราเซตามอลในขนาดที่สูง จะเกิดอาการของความเป็นพิษ ซึ่งเป็นอาการที่บ่งชี้ถึงภาวะที่เซลล์ตับถูกทำลาย อาการที่พบ คือ อาเจียน เบื่ออาหาร หัวใจเต้นเร็ว หายใจเร็ว อาจปวดท้อง และมีดีซ่าน อาจมีเยื่อเมือกคล้ำ มีเลือดปนในปัสสาวะ ใบหน้า และฝ่าเท้าบวม 

                แมวมีอาการคล้ายสุนัข แต่อาการทางตับไม่ชัดเจน อาการที่พบ คือ เยื่อเมือกคล้ำ หายใจลำบาก มีการบวมน้ำของหน้าและฝ่าเท้า ซึม อุณหภูมิร่างกายต่ำและอาเจียน อาจพบดีซ่านได้บ้าง เนื่องจากเม็ดเลือดแดงแตก หากได้รับขนาดสูงมาก ๆ จึงจะพบอาการเกี่ยวกับตับ ห้ามให้พาราเซตามอลในแมวเด็ดขาด

                การรักษา จะมุ่งเน้นที่การป้องกันไม่ให้ยาถูกดูดซึมเข้าสู่ร่างกายให้การรักษาพยุงชีพ และให้ยาแก้พิษเฉพาะ หากเป็นกรณีเฉียบพลัน และเจ้าตูบถูกนำมาพบสัตวแพทย์ภายใน 4 ชั่วโมงหลังได้รับพาราเซตามอล จะทำการลดการดูดซึมโดยให้สารดูดซับ เช่น ผงถ่านหรือทำการล้างท้อง

                การรักษาพยุงชีพ ได้แก่ การให้สารน้ำเข้าหลอดเลือด การให้ออกซิเจนถ้าเลือดจางรุนแรงอาจจำเป็นต้องให้เลือดหรือสารทดแทนเลือด

                สำหรับการดูแลอื่น ๆ ควรระวังเรื่องภาวะขาดน้ำ และอุณหภูมิของร่างกาย ควรใช้แผ่นความร้อนเพื่อให้สัตว์อบอุ่นตลอดเวลา (ทั้งนี้ควรตรวจอบอุณหภูมิร่างกายของเจ้าตูบเป็นระยะ ๆ ด้วย เพื่อป้องกันไม่ให้อุณหภูมิร่างกายสูงมากเกินไป)

                จะเห็นได้ว่า การให้พาราเซตามอลแก่เจ้าตูบและเจ้าเหมียวนั้น นอกจากจะไม่ช่วยให้อาการตัวร้อน มีไข้ ดีขึ้นแล้ว ยังอาจเกิดภาวะแพ้พิษจากพาราเซตามอลได้ โดยความเป็นพิษของพาราเซตามอลในสุนัขจะเกิดที่ตับ สำหรับแมวจะเกิดที่เซลล์เม็ดเลือดแดงเป็นหลัก 

                เพราะฉะนั้นก่อนจะให้ยาอะไรก็ตาม ควรให้ยาตามที่สัตวแพทย์สั่ง และปฏิบัติตามคำแนะนำอย่างเคร่งครัด เพียงเท่านี้ ก็ช่วยให้เจ้าตูบของเราลดความเสี่ยงของการเกิดพิษจากยาต่าง ๆ ได้ค่ะ

ขอขอบคุณข้อมูลจาก

https://pet.kapook.com/view24480.html
เครดิตภาพ  https://www.pinterest.com/pin/827255025325976147/