Wednesday, May 24, 2017

ไขข้อสงสัย...การเลี้ยงแมวดีต่อใจยังไง ? ทำไมใคร ๆ ก็ยอมเป็นทาส


        ไขข้อสงสัยการเลี้ยงแมวดีต่อใจอย่างไร ช่วยรักษาสุขภาพจิตให้ดีขึ้นได้อย่างไรบ้าง ถ้าอยากรู้ว่าทำไมใคร ๆ ก็ยอมเป็นทาสแมว มาหาคำตอบพร้อม ๆ กันเลยค่ะ
 

          ตอนนี้สิ่งที่น่ากลัวที่สุดคงจะไม่ใช่สงครามหรือสภาพอากาศที่แปรปวนแต่อย่างใด แต่กลับเป็นความรู้สึกเปราะบางในจิตใจของเรานี่แหละ ที่จ้องจะทำร้ายตัวเราเองอยู่ตลอดเวลา ซึ่งจะเห็นได้จากผลการสำรวจจำนวนผู้ป่วยโรคซึมเศร้าและโรคเครียดที่เพิ่มมากขึ้น มิหนำซ้ำยังมีข่าวที่เกี่ยวกับผู้ป่วยที่มีภาวะโรคซึมเศร้าปรากฎให้เห็นอยู่บ่อย ๆ แม้ว่าการรักษาส่วนมากจะต้องพึ่งยาเป็นหลัก แต่ผลงานวิจัยบางตัวกลับพบว่าสัตว์เลี้ยงอย่าง แมวนี่แหละ สามารถช่วยบำบัด รักษา และปรับสภาวะอารมณ์ให้ดีขึ้นได้เหมือนกัน ซึ่งวันนี้จะได้รู้กันว่าการเลี้ยงแมวส่งผลต่อสภาวะจิตใจอย่างไรบ้าง ?

         โดยมหาวิทยาลัยในเมืองบัฟฟาโล นิวยอร์ก ประเทศสหรัฐอเมริกา และ ดร.คาเรน เอล์เลน (Karen Allen) แห่งมหาวิทยาลัยบอสตัน ได้ทำการวิจัยและประเมินผลเกี่ยวกับ ผลกระทบที่เกิดจากภาวะทางสังคมต่ออัตราการเต้นของหัวใจ ความดันโลหิต และการหลั่งเอ็นไซม์เรนิน (Renin) ที่เป็นปัจจัยกระตุ้นให้เกิดความเครียดในกลุ่มอาชีพผู้ช่วยนักลงทุน (Stockbroker) ในนิวยอร์ก จำนวน 48 คน จากการทดลองให้ยาที่ชื่อ ลิซิโนพริล (Lisinopril) และ แองจิโอเทนซิน-คอนเวอร์ติง เอนไซม์ (ACE) ซึ่งเป็นยาลดความดันโลหิต แล้วแบ่งออกเป็น 2 กลุ่มย่อย กลุ่มละ 24 คน กลุ่มแรกรักษาด้วยการให้ยาเพียงอย่างเดียว ส่วนกลุ่มที่ 2 รักษาด้วยยาควบคู่ไปกับการเลี้ยงสัตว์ เช่น หมาหรือเแมว

          หลังการรักษา 6 เดือนพบว่ากลุ่มที่เลี้ยงสัตว์ไปพร้อม ๆ กับรับประทานยามีอัตราการเต้นของหัวใจ ความดันโลหิต และการหลั่งเอนไซม์เรนิน (Renin) น้อยลงเมื่อเทียบกับผู้ที่รักษาด้วยยาเพียงอย่างเดียว แน่นอนว่าต้องส่งผลให้สุขภาพจิตใจดีขึ้นตามไปด้วย

          พร้อมกันนี้ยังแสดงให้ถึงข้อดีของการเลี้ยงแมวด้วยว่า...

1. แมวจะรักเจ้าของโดยไม่มีเงื่อนไข

          เพราะสัตว์ก็คือสัตว์ พวกมันจะไม่สร้างเงื่อนไขหรือเสาะแสวงหาผลประโยชน์ใด ๆ ในความสัมพันธ์ ดังนั้นการเลี้ยงแมวจึงทำให้รู้สึกผ่อนคลาย เป็นเพื่อนยามเหงา ไม่ปล่อยให้ความเครียดมีอิทธิพลสร้างกำแพงแยกเราออกจากสังคม และไม่ทำให้เราต้องคอยกังวลว่าพวกมันจะคิดอย่างไร

2. เพิ่มความรับผิดชอบทำให้มองเห็นคุณค่าในตัวเอง

          หลายคนอาจจะคิดว่า ตนเองคงเลี้ยงแมวไม่ได้หรอก เพราะลำพังต้องดูแลตัวเองยากลำบากพออยู่แล้ว แต่ผู้เชี่ยวชาญกลับบอกว่า ความรับผิดชอบเล็ก ๆ น้อย ๆ ในการดูแลแมวนี่แหละ ที่จะทำให้คุณมองเห็นคุณค่าและความมีสำคัญในตัวเองมากยิ่งขึ้น

3. พาแมวไปเดินเล่น เพื่อสร้างสุขภาพกายและใจให้ดีขึ้น

          ถ้าได้เริ่มเลี้ยงแมวหรือสัตว์เลี้ยงชนิดอื่น ๆ แล้วล่ะก็ เจ้าของจะต้องพาแมวออกไปเดินเล่นนอกบ้านอยู่บ่อย ๆ ซึ่งกิจกรรมนี้จะทำให้เจ้าของได้ออกกำลังกายไปในตัว ทำให้สุภาพร่างกายแข็งแรงขึ้น ช่วยให้คุณจัดการกับความเครียดได้ดี และส่งผลให้จิตใจดีขึ้นตามไปด้วย

4. การสัมผัสแมวจะช่วยปรับอารมณ์ให้ดีขึ้นได้

          แม้ว่าคุณจะอารมณ์เสียมาจากไหน แต่ถ้าได้ลูบไล้ขนนุ่ม ๆ ของแมวแล้วก็จะทำให้ผ่อนคลายมากขึ้น ซึ่งมีอ้างอิงได้จากผลของการวิจัยให้ผู้ชายที่ป่วยเป็นโรคเอดส์ได้เลี้ยงสัตว์และประเมินผลพบว่า พวกเขารู้สึกทุกข์ทรมานจากอาการของโรคซึมเศร้าน้อยลงเมื่อได้อยู่กับสัตว์เลี้ยง

5. แมวช่วยรักษาระดับความดันโลหิตได้เป็นปกติดีกว่าการพึ่งยา

          แม้ในทางการแพทย์จะใช้ยาที่ช่วยลดความดันโลหิต แต่ผลการวิจัยกลุ่มอาชีพผู่ช่วยนักลงทุน (Stockbrokers) ในนิวยอร์ก ที่เป็นความดันโลหิตสูง ด้วยการให้เลี้ยงหมาและแมวนั้นพบว่า กลุ่มผู้ที่เลี้ยงสัตว์มีความดันโลหิตและอัตราการเต้นของหัวใจต่ำลงกว่ากลุ่มผู้ที่ไม่ได้เลี้ยงสัตว์

6. สร้างความสัมพันธ์ทางสังคม

          เมื่อคุณได้พาแมวออกไปข้างนอกแล้วไปเจอสังคมใหม่ ๆ ไม่ว่าจะเป็นคนที่เลี้ยงแมวเหมือนกันหรือผู้คนรอบข้าง ก็จะทำให้เกิดการพูดคุยและเปิดโอกาสตัวเองได้สานสัมพันธ์กับคนรอบข้าง ซึ่งวิธีการนี้จะช่วยจัดการกับความเครียดได้เป็นอย่างดี

7. แมวรับฟังปัญหาได้ดีกว่าคน

          บางครั้งการได้พูดระบายหรือบอกเล่าปัญหาให้กับคนที่ไว้ใจได้รับฟังก็จะช่วยให้รู้สึกดีขึ้น แต่อาจจะน้อยกว่าการระบายให้แมวฟัง เพราะพวกมันจะไม่ตัดสินอะไรในตัวคุณได้เลยแม้แต่น้อย และจะรับฟังอย่างตั้งใจ ซึ่งนั่นอาจจะทำให้รู้สึกสบายใจมากกว่าการระบายให้คนฟังในบางครั้ง

          แม้ว่าผลจากการวิจัยและทดลองจะปรากฏให้เห็นว่า การเลี้ยงคือส่วนหนึ่งมีช่วยบรรเทาความเครียดจากโรคซึมเศร้าให้ลดลงได้ แต่ก็ไม่ใช่หนทางที่จะทำให้โรคนี้หายขาดแต่อย่างใด หากใครที่กำลังตกอยู่ในภาวะหรือเป็นโรคซึมเศร้าก็อย่าได้ยอมแพ้นะคะ จงเข้มแข็ง และลองหาแมวมาเลี้ยงให้เป็นเพื่อนคลายเหงาดูสิคะ

ขอขอบคุณข้อมูลจาก newswise, Verywell, Bu และ Webmd

No comments:

Post a Comment