Friday, April 17, 2020

โรค FIP ภัยเงียบคุกคามเจ้าเหมียว



ไขปัญหา โรค FIP (feline infectious peritonitis) ภัยเงียบที่คุกคามเจ้าเหมียว (Cat magazine)

 โรค FIP เกิดขึ้นได้อย่างไรคะ

          คุณหมอ : โรคเยื่อบุช่องท้องและช่องอกอักเสบ หรือ FIP เกิดมาจากเชื้อไวรัสชนิดหนึ่งที่ชื่อว่า โคโรนาไวรัส (Corona virus) โรคนี้สามารถเกิดได้ 2 ลักษณะคือ แบบมีของเหลวสะสม และแบบไม่มีของเหลวสะสมโดยจะพบได้มากในแมวที่มีอายุน้อยและมีการเลี้ยงรวมกันอย่างหนาแน่นครับ

 เราสามารถสังเกตได้อย่างไรว่า แมวที่เราเลี้ยงอยู่เป็นโรคเยื่อบุช่องท้องและช่องอกอักเสบ

          คุณหมอ : อาการของแมวที่เป็นโรคนี้ขึ้นอยู่กับลักษณะโรคที่เป็นครับ แมวที่เป็นโรค FIP แบบมีของเหลวสะสม จะพบว่าแมวจะเริ่มซึม ทานอาหารน้อยลง ตัวร้อน ถ้าเจ้าของเปิดดูเหงือกอาจพบว่ามีลักษณะสีขาวซีดหรือมีสีเหลือง ท้องแมวอาจมีการกางขยายใหญ่คล้ายแมวท้อง ในแมวบางตัวอาจพบว่ามีอาการหายใจลำบาก และหายใจเร็วร่วมด้วย ในขณะที่แมวที่เป็นโรค FIP แบบแห้งมักสังเกตอาการได้ยากกว่า เนื่องจากแมวมักมีอาการไม่เฉพาะเจาะจง เช่น มีไข้นิดหน่อย เบื่ออาหาร ดูซึม ๆ ลง หากแมวมีอาการรุนแรงอาจพบว่าเหงือกมีสีเหลืองร่วมกับหายใจลำบากและหายใจเร็วร่วมด้วยครับ

 แล้วแมวที่เป็นโรคนี้มีวิธีการรักษาไหมคะ?

          คุณหมอ : น่าเสียดายจริง ๆ ที่โรคนี้ในปัจจุบันยังไม่มีวิธีการรักษาให้หายขาดวิธีการรักษาในปัจจุบันเป็นการรักษาเพื่อประคองอาการ และพยุงอาการให้เจ้าเหมียวสบายขึ้นมากกว่า เช่น การให้ยาลดอักเสบประเภทสเตียรอยด์เพื่อช่วยลดการสะสมของของเหลวในอกและท้องช่วยกระตุ้นความอยากอาหาร ในกรณีที่เจ้าเหมียวมีการสะสมของเหลวในช่องอก และช่องท้องเป็นปริมาณมาก อาจพามาทำการเจาะดูดของเหลวออก เพื่อช่วยให้เจ้าเหมียวหายใจได้สะดวกสบายขึ้นครับ

 โรคนี้สามารถติดกับตัวอื่นได้หรือเปล่า ถ้าติดต่อ ติดได้ทางไหนบ้างคะ

          คุณหมอ : ที่จริงแล้วการติดต่อในโรคนี้ยังไม่ทราบกลไกการติดต่ออย่างแน่ชัด แต่ปัจจุบันเชื่อว่าเกิดจากการกลายพันธุ์ของเชื้อโคโรนาไวรัสจากลักษณะปกติให้มีความรุนแรงมากขึ้นในตัวของแมวแต่ละตัว ซึ่งแต่ละตัว ก็จะมีการตอบสนองต่อเชื้อไวรัสไม่เท่ากัน ดังนั้น แมวที่ได้รับเชื้อโคโรนาไวรัส แล้วไม่มีการกลายพันธุ์ อาจจะไม่ทำให้เกิดโรค FIP ก็ได้ แต่อย่างไรก็ตามวิธีการหลีกเลี่ยงที่ดีที่สุดคือการหลีกเลี่ยงไม่ให้แมวได้รับเชื้อโคโรนาไวรัสเลย ซึ่งโคโรนาไวรัสสามารถติดต่อไปสู่แมวตัวอื่นได้ทางการเลียขนให้กัน กินน้ำข้าวถ้วยเดียวกันหรือ การใช้กระบะทรายร่วมกันก็สามารถติดกันได้ครับ

 เราสามารถฉีดวัคซีนเพื่อป้องกันโรคนี้ได้หรือเปล่าคะ

          คุณหมอ : ปัจจุบันการใช้วัคซีนเพื่อป้องกันโรคนี้ยังไม่ได้ผลในการป้องกันอย่างแน่ชัด จากการทดลองพบว่าอัตราการป้องกันโรคโดยการทำวัคซีนในแมวมีความแปรผันตั้งแต่ที่ 0-75 % ในกรณีที่ต้องการทำวัคซีน แมวควรที่จะยังไม่ได้รับเชื้อโคโรนาไวรัสมาก่อน กรณีที่แมวเคยได้รับเชื้อมาแล้ว การทำวัคซีนจะไม่ช่วยป้องกันโรคสำหรับแมวที่ต้องการทำวัคซีน จะเริ่มเข้มแรกที่อายุประมาณ 4 เดือน และอีก 3 สัปดาห์ค่อยกระตุ้นวัคซีนซ้ำอีก 1 ครั้ง จากนั้นจึงทำการให้วัคซีนกระตุ้นโรคในทุก ๆ ปีครับ

 แมวที่มีอาการของโรค FIP แล้ว โดยทั่วไป จะสามารถมีชีวิตอยู่ต่อไปได้อีกนานไหมคะ

          คุณหมอ : แมวที่เป็นโรค FIP และมีอาการของโรคแล้ว โดยทั่วไป พบว่าอายุขัยเฉลี่ยอยู่ที่ประมาณ 9 วัน หลังจากตรวจพบโรคครับ

สรุป

           โรค FIP หรือโรคเยื่อบุช่องท้องและช่องอกอักเสบ เกิดจากเชื้อโคโรนาไวรัส ซึ่งแมวที่ติดเชื้อไวรัสชนิดนี้มีแค่บางส่วนเท่านั้นที่จะเกิดการพัฒนาต่อไปเป็นโรค FIP ต่อได้

           แมวเด็กอายุน้อย การเลี้ยงแมวกันอย่างหนาแน่น และความเครียดในแมวจะเป็นสาเหตุสำคัญที่ทำให้เกิดการพัฒนาของโรคไปเป็นโรค FIP ได้ โดยพบว่าแมวที่เลี้ยงอยู่ภายในบ้านตัวเดียวเลี้ยงแบบอิสระการเกิดโรคนี้น้อยที่สุด

           โรคนี้เป็นโรคที่มีความรุนแรงและมีอัตราการรอดชีวิตค่อนข้างต่ำ โดยอายุขัยเฉลี่ยของแมวที่เป็นโรคหลังจากที่ตรวจเจออาการอยู่ที่ประมาณ 9 วัน

ขอขอบคุณข้อมูลจาก

https://pet.kapook.com/view20740.html
เครดิตภาพ  https://www.pinterest.com/pin/747597606892178072/

No comments:

Post a Comment